In News

ครม.​รับทราบ​มติประชุมบอร์ดปาล์มน้ำมัน สั่งชะลอสมาชิกสภาผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม



กรุงเทพฯ-วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (20 กุมภาพันธ์ 2567) มีมติรับทราบแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้ประชุม กนป. ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สาระสำคัญดังนี้

1. กนป. มีมติมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (กรมการค้าภายใน) พิจารณาทบทวนรายละเอียดโครงการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ปี 2566-2567 ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
2. เห็นชอบการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน และมอบ พณ. (กรมการค้าภายใน) นำมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคินค้าและบริการ
3. เห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ในส่วนผู้แทนเกษตรกร จากเดิม ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็น ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ (ด้านปาล์มน้ำมัน)
4. เห็นควรชะลอการพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภามนตรีประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (Council of Palm Producing Countries: CPOPC) ของไทย และมอบหมายฝ่ายเลขานุการ กนป. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะนำมาเสนอ กนป. พิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้แจ้งกระทรวงการต่างประเทสดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณาและครอบคลุมในทุกมิติ
5. มอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ รับข้อสังเกตจากที่ประชุมและเร่งรัดการดำเนินโครงการวิจัย “สมการโครงสร้างราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม” ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ (เดือนตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) และนำมาเสนอ กนป. พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบทั้งระบบเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งจะทำให้มีเกณฑ์โครงสร้างราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและสอดคล้องกับสถานการณ์อุปสงค์อุปทานในแต่ละช่วงเวลา