EDU Research & ESG
สกสว.-สมาคมไทยบิสป้า'แท็กทีมเฟ้นหา ผปก.นวัตกรรมตอบดีมานด์รัฐ-ตลาด
กรุงเทพฯ 21 กุมภาพันธ์ 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ร่วมกับ สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) เปิดกลไกและแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนกลไกการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมเอกชนขนาดกลางที่มีความพร้อมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation driven enterprise) โดยความร่วมมือของ สกสว. Thai-BISPA และ หน่วยบริหารและจัดการทุน รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ นักวิจัย นวัตกร หรือนักเทคโนโลยีที่ทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งมาตรการในการสร้างธุรกิจใหม่ หรือขยายกิจการเดิมเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้มีเอกชนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น และส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
โดยที่ผ่านมา สกสว. ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ผลักดันมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐ หรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR: Thailand Business Innovation Research / TTTR: Thailand Technology Transfer Research) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ทำวิจัย หรือ ร่วมลงทุนวิจัยนั้น ร่วมเป็นเจ้าของผลการวิจัยซึ่งแนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหลักการคือเป็นกลไกการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมเอกชนขนาดกลางที่มีความพร้อม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ตามความต้องการของตลาดและของประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“ประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางเป็นจำนวนมาก ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งมาตรการสนับสนุนเงินแก่ผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อนำไปสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงให้สิทธิความเป็นเจ้าของผลงานจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผลงานนั้น ๆ ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมา สกสว. ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ทดลองประกาศให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเสื้อกันกระแทกที่ใช้วัสดุกราฟีน บริษัท กราฟีนครีเอชั่นส์ จำกัด (โจทย์ตามความต้องการภาคเอกชน) และโครงการพัฒนาเครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอลชนิดสื่อสารไร้สายด้วยสัญญาณบลูทูธ บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ จำกัด (โจทย์ตามความต้องการภาครัฐ) ซึ่งผู้ประกอบการและผู้รับทุนต่างเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 โครงการจะช่วยแก้ปัญหาทางสังคมในเรื่องของความปลอดภัย และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤติทางสุขภาพได้”
ศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สกสว. ยังได้มอบหมายให้ Thai-BISPA เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการคัดเลือกโจทย์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมกับสรรหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อวางแนวทางในการขยายผลการให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ไปยังทุกหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรรมอื่น ๆ ในประเทศต่อไป โดยเชื่อมั่นว่ามาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐ หรือ อุปสงค์ของตลาด จะช่วยยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการ ให้สามารถนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยตนเองจนสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางดังกล่าวยังได้มีการจัดกิจกรรมเสวนานำโดย รองศาสตราจารย์.ดร.สิรี ชัยเสรี ประธานอนุกรรมการแผนงานขับเคลื่อนนโยบาย บพข. สู่การปฏิบัติ คุณพัชกร ไทยนิยม ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือด้านวัตกรรมภายนอกองค์กร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) คุณเท็ด โปษกฤษณะ ถิระพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราฟิน ครีเอชั่นส์ จำกัด และ คุณนริศชา ต่อสุทธิ์กนก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสพี ครีเอทีฟ เมกเกอร์ จำกัด ซึ่งได้มีการสรุปมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กในภาพรวมว่า แนวทางนี้ถือเป็นกลไกที่มุ่งหวังให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมของประเทศเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทในทุก ๆ ด้าน หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กนี้จะสร้างความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม ยกตัวอย่าง เช่น ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของรัฐรวมถึงการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีติดตามการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เทคโนโลยีสำหรับการจัดการน้ำ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้นวัตกรรมและการทำงานของภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมกัน