In Bangkok
กทม.แนะวิธีดูแลสุขภาพ-เลี่ยงกิจกรรม กลางแดดป้องกันภาวะฮีทสโตรก
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนว่า สนอ.มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ประชาชนจึงควรระมัดระวังดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำอุปโภคบริโภค โดยรับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน
นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอาการสำคัญและวิธีการป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนผ่านสื่อออนไลน์ แผ่นพับ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแจ้งต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน โดยเฉพาะอาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ที่เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก หรือเหงื่อออกมากกว่าปกติ กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นมากจะมีอาการชักเกร็ง หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาครีมกันแดด SPF30 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หากเลี่ยงไม่ได้ให้หยุดพักจากกิจกรรมเป็นระยะ และไม่ฝืนทำกิจกรรมต่อหากรู้สึกว่า เกิดความผิดปกติของร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เลือกเวลาออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็น ซึ่งวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว รีบนำเข้าร่ม เพื่อให้หายใจสะดวก นอนราบ ถอดเสื้อผ้า เพื่อระบายความร้อนให้ผู้ป่วย คลายตะขอชุดชั้นใน จากนั้นนำผ้าชุบน้ำเย็นมาเช็ดตัว และข้อพับต่าง ๆ ตามร่างกาย รักแร้ ขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิ ใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ หรือแจ้งสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ เพื่อให้รถพยาบาลมาช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด