In Bangkok

กทม.ประสานแนวคิดของ'เนเธอร์แลนด์' ออกแบบกรุงเทพฯสู่เมืองเดินได้ปั่นดี



กรุงเทพฯ-(21 ก.พ. 67) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร, H.E.Mr. Remco Johannes van Wijngaarden เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ร่วมรับฟังการนำเสนอแนวคิดและการอภิปรายกิจกรรมกลุ่ม ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop in Bangkok ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความมุ่งหวังให้แนวคิดต่าง ๆ เพื่อการเป็นเมืองที่เดินได้ ปั่นดี ต้องทําให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่ออกแบบ ซึ่งตอนนี้เรามีนโยบายที่กําลังทําอยู่คือ Bike Sharing โดยมีนโยบายสำคัญลำดับแรกสำหรับการเดินทาง คือ First and Last Mile เดินทางดีตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทาง เพื่อส่งเสริมให้การใช้จักรยานง่ายขึ้น และต้องฝากพวกเราช่วยคิด อย่าให้เป็นอย่างคำพูดที่ว่าคนทำไม่ได้ขี่ คนขี่ไม่ได้ทำ ครั้งนี้จึงอยากให้คนขี่จักรยานมาช่วยแนะนําว่ากทม. ควรปรับปรุงตรงไหน เราพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น

ด้าน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ กล่าวชื่นชมที่ได้เห็นทุกคนมา Workshop ร่วมกันเพื่อให้การปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ดีขึ้น โดยตนเองเคยปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ และเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ พื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ทุกคนได้ร่วมกันคิดเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาล้วนเป็นพื้นที่สําคัญต่อการพัฒนาเมือง และทางสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ยินดีที่จะสนับสนุนกรุงเทพมหานคร

สำหรับการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop in Bangkok ในครั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจาก กระทรวงการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและน้ำแห่งเนเธอร์แลนด์ ภายใต้โครงการ "Alliance for Cyeling and Walking Towards International Vitality and Empowerment" (ACTIVE) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจาก Dutch Cycling Embassy มาให้ความรู้ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พฤติกรรม และโครงสร้างองค์กรของชุมชนนักปั่นแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง  ผู้แทนกลุ่มจักรยาน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย เข้ารวมกว่า 60 ท่าน เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับเมืองของเนเธอร์แลนด์มาปรับใช้กับกรุงเทพมหานคร

สำหรับการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 กุมภาพันธ์ 2567 ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ศึกษาแนวคิดการส่งเสริมและการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรของประเทศเนเธอร์แลนด์ การร่วมกันเสนอแนวคิดในการสร้างเครือข่ายการปั่นจักรยาน (Cycling networks) และการออกแบบระบบเครือข่าย (Network design) ร่วมกัน การร่วมปั่นจักรยานจากสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ มายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่อสะท้อนแนวคิดว่าการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านได้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ระหว่างการเดินทาง

และวันสุดท้าย กับไฮไลต์ การนำเสนอแนวคิดจากการทำกิจกรรมตลอดทั้ง 3 วัน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 60 ท่าน ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และหลักการที่จำเป็นในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเครือข่าย การจัดการกับปัญหาและอุปสรรคสำหรับการสร้างเส้นทางปั่นจักรยานในกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการนำเสนอแนวคิดของผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 8 กลุ่ม ซึ่งแบ่งพื้นที่ในการจัดทำข้อมูลจากทางแยกจำนวน 8 ทางแยกสำคัญ ได้แก่ 
1. แยกอโศก ถนนสุขุมวิท-ถนนอโศกมนตรี 
2. แยกถนนเจริญกรุง- รองเมือง 
3. แยกประดิษฐ์มนูธรรม - ลาดพร้าว
4. แยกท่าพระ
5. แยกซอยสวัสดี-พร้อมจิตร
6. แยกถนนหลวง-บริพัตร
7. แยกนาคนิวาศ สังคมสงเคราะห์ 
8. แยกตลาดพลู

โดยแต่ละกลุ่มได้นำจุดอ่อนจุดแข็งของพื้นที่ต่าง ๆ มาออกแบบแนวคิดในการปรับปรุงเส้นทาง ทางแยก และจุดจอด เพื่อให้เกิดเส้นทางเดินและปั่นจักรยานที่สะดวกปลอดภัย ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมผลักดันให้นโยบายของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการใช้จักรยาน การทำให้ถนน ซอย และเส้นทางเลียบคลองต่างๆ มีทางเดิน-ปั่น สะดวก ปลอดภัย เชื่อมต่อระบบขนส่งและการสัญจรทางเลือกอื่น ๆ ได้สะดวกเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ในการนี้มี พ.ต.อ.เรวัฏ นูมปันต์ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร, ร.ต.อ. ชัยสิทธิ์ เขมกปสิทธิ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.4 กองปราบปราม พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์, ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารของสำนักการจราจรและขนส่ง เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอจากผู้เข้าร่วมประชุม