Think In Truth

เปิดหน้าแลหลัง...'ทักษิณ'จุดศูนย์กลาง การเมืองไทย โดย ... พินิจ จันทร



ปรากฏการณ์เพียงเสี่ยววินาทีที่เห็น “ทักษิณ ชินวัตร” นั่งรถโผล่พ้นประตู รพ.ตำรวจ หลังได้รับการ‘พักโทษเมื่อเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ก็ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งแผ่นดิน

ทั้งนี้โดยเฉพาะในสนามการเมืองนั้น คงไม่ต้องไปคาดเดาและวิเคราะห์เจาะลึกอะไรให้ปวดหัว เพราะเป็นที่ทราบและเห็นกันมาแล้วว่า แค่เห็นชื่อ “ทักษิณ” บางคนบางกลุ่มที่เกลียดซังหรือฝังแค้นฝังหุ่นกับ “ทักษิณ” ก็เกิดอาการความดันขึ้นสมองทันที

เชื่อได้เลยว่า หลังจาก “ทักษิณ” ออกจาก รพ.ตำรวจ กลับสู่บ้านจันทร์ส่องหล้าและได้พ้นโทษในเดือนสิงหาคม 2567 จุดศูนย์รวมข่าวและถนนทุกสายจะพุ่งเป้าเข้าสู่ “ทักษิณ” จนกลายเป็นจุดศูนย์รวมแห่งจักรวาลการเมืองไทยไปโดยปริยาย

กล่าวคือไม่ว่า “ทักษิณ” จะทำอะไรก็จะกลายเป็นประเด็นไปหมดทุกบริบท

ขอทบทวนความทรงจำเพื่อเข้าใจกันนิดหนึ่ง คือเริ่มตั้งแต่ชีวิตพลัดถิ่นตลอด 17 ปี ของ“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ที่สัญจรอยู่นอกราชอาณาจักรไทย จากเดิมที่คาดว่าจะสิ้นสุดอำนาจและบารมีหากแต่ทุกบริบทแห่งความเคลื่อนไหวได้ถูกจับจ้องอย่างเข้มข้นตลอดมาและได้สร้างความรู้สึกต่าง ๆ นานา ต่อผู้ที่เคยให้การสนับสนุนและกลุ่มผู้ที่เคยต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้

กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ “ทักษิณ” ตัดสินใจลี้ภัยในต่างแดน มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชายผู้นี้อย่างต่อเนื่องและชื่อของ “ทักษิณ” ก็ยังคงโดดเด่นโลดแล่นในแวดวงการเมืองของไทยไม่มีวาระว่าจะถดถอยด้อยค่าแม้แต่น้อย อันสืบเนื่องมากจากผลงานของพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ” เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ทำให้สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2

ท้ายสุดก็ถึงจุดเปลี่ยนผันทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายน 2548 เมื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคลื่อนไหวขับไล่ “ทักษิณ” โดยอ้างเรื่องทุจริต ใช้อำนาจไม่ชอบ ปิดกั้นสื่อ และไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาชายแดนใต้

แต่เหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจให้ชนชั้นกลางของไทย คือ การที่ “ทักษิณ” เทขายหุ้นในชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์และได้เงินมา 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้มีผู้คนนับหมื่นออกไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้เขาลาออก

เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายจนทำให้นายทักษิณประกาศยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านหลักไม่ลงแข่ง และประชาชนจำนวนมากกาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่ศาล รธน. สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

แต่ยังไม่ถึงการจัดการเลือกตั้ง ก็เกิดรัฐประหารโดยผู้นำเหล่าทัพ โดยกล่าวหารัฐบาลทักษิณว่าก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์

คนที่ติดตามการเมืองในห้วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า แม้ “ทักษิณ” จะหลบลี้หนีภัยอยู่ในต่าง แดนก็ตาม หากแต่ก็ยังสามารถเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองไทยหลายครั้งหลายบทอย่างคงเส้นคงวาในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

“ทักษิณ”เป็นอภิมหาเศรษฐีระดับหลายหมื่นล้าน เป็นนายกรัฐมนตรีที่รวยที่สุดของไทย (หรืออาจของโลก) เป็นอภิมหาเศรษฐีคนแรกของไทยที่กระโจนเข้าสู่การเมืองแบบเต็มตัว ก่อนทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในฐานะนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ภายหลังก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ได้เพียง 2 ปี 7 เดือน

“ทักษิณ”เป็นผู้นำพรรคการเมืองคนแรกที่มีประชาชนถึง 19 ล้านเสียงเดินตามหลัง สะท้อนผ่านคะแนนมหาชนของพรรค ทรท. ในการเลือกตั้งปี 2548

“ทักษิณ”เป็นผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก-คนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งครบเทอม และยังชนะการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 377 เสียง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ

ทว่าจุดจบทางการเมืองของนายกฯ คนที่ 23 ไม่ต่างจากผู้นำการเมืองหลายคนที่ถูกประชาชนชุมนุมขับไล่ ก่อนลงท้ายด้วยการยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อปี 2549 ถูกตั้งสารพัดข้อหาคดีทุจริต ต้อง “ลี้ภัย” ไปใช้ชีวิตในต่างแดน

ตลอด 17 ปีที่อยู่นอกประเทศ ชื่อ “ทักษิณ” ไม่เคยห่างหายไปจากการเมืองไทย บ่อยครั้งที่เขาช่วยคิดและบัญชาการการเมืองจากแดนไกลแต่บางครั้งก็มีคนการเมืองอ้างตัวเป็น สายตรงอ้างคำของทักษิณมาขับเคลื่อนวาระส่วนตนโดยที่เจ้าตัวไม่ได้สั่ง

หลังจาก“ทักษิณ”เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ตำรวจได้นำตัวเขาไปยังศาลฎีกาก่อนส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามลำดับแต่คืนวันเดียวกันในขณะถูกคุมขัง ทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์วินิจฉัยแล้วจึงส่งเขาไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์มากกว่าโดย“ทักษิณ”ขึ้นไปพักรักษาตัวที่ห้องรอยัลสูท ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

เวลาต่อมา “แพทองธาร ชินวัตร”หรืออุ๊งอิ๊งเผยว่าทักษิณมีอาการอ่อนเพลียและเครียด อีกทั้งยังมีอาการต่อเนื่องจากการป่วยเป็นโควิด-19 ยังกล่าวว่าการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นดุลยพินิจของบิดา และไม่ได้มีการร้องขอเพื่อย้ายเขาไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด

ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณจากครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนั้นจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปและในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยลดโทษให้ทักษิณ โดยคงเหลือจำคุก 1 ปีทั้งนี้ ผู้ดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษแก่ทักษิณ คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ มิใช่นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วในขณะนั้น

ต่อมา18 กุมภาพันธ์ 2567 ทักษิณได้เข้าไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในฐานะนักโทษเด็ดขาดครบ 6 เดือน จึงได้รับการปล่อยตัวโดยมีการคุมประพฤติ (พักโทษ) ด้วยเงื่อนไขจำนวน 8 ข้อ เขาเดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจพร้อมบุตรสาวทั้ง 2 คนเมื่อเวลา 06.09น. และกลับถึงบ้านจันทร์ส่องหล้าในอีกครึ่งชั่วโมงต่อมาโดยมีมวลชนเสื้อแดงบางส่วนรอให้กำลังใจหน้าบ้านพัก

https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhaTxh98VEL9eXvGVzdzhDsM4oXs.jpgขอบคุณภาพไทยพีบีเอส

ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ.2560 จะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกๆ เดือน เป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นสามารถผ่อนปรนเป็นรายงานตัวทุกๆ 2 เดือน หากยังมีอาการเจ็บป่วยอยู่ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ จะเดินทางไปพบยังสถานที่พักโทษที่แจ้งไว้ กรณีมีเหตุจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่ชั่วครั้งชั่วคราว สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ยกเว้นการเดินทางไปต่างประเทศไม่สามารถทำได้ ส่วนการออกรายงานทีวี สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องแจ้ง โดยเนื้อหาจะต้องไม่สร้างความเสียหาย

บันทึกเอาไว้เลยว่า นับตั้งแต่ “ทักษิณ” พ้นโทษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและหากไม่มีโรคการเมืองเกี่ยวกับคดีต่างๆแทรกเข้ามาอีก นั้นหมายความว่า “ทักษิณ” จะมีอิสระมีเสรีภาพสามารถดำเนินการทางการเมืองได้สะดวกโยธิน

ทั้งนี้ ถ้าหากดูจากการจัดวางตำแหน่งที่นั่งรถออกจากโรงพยาบาลโดยจงใจเปิดเผยให้ประชาชนเห็นภาพชัดเจนนั้น เหมือนบอกเป็นนัยว่าพร้อมจะเปิดหน้าชนอย่างเต็มที่ ส่วนบุญคุณต้องทดแทน แค้นจะต้องชำระหรือไมนั้น

ต้องติดตามบริบทต่อไปครับ.