In Bangkok
กทม.แปลงโฉม 'สวนป่าสักใจกลางเมือง' ดึงชุมชนร่วมออกแบบสร้างแหล่งเรียนรู้
กรุงเทพฯ-(24 ก.พ.67) เวลา 10.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงสวนป่าสัก โดยมี นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้รับจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ สวนป่าสัก ซอยวิภาวดี 5 เขตจตุจักร
“การออกแบบสวนเน้นให้ทางชุมชนมีส่วนร่วม โดยคงไว้ซึ่งต้นไม้เดิมในพื้นที่ทั้งหมด มีการเติมต้นไม้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น มีการปรับปรุงทางเดินทางวิ่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นไปตามแนวทางการจัดทำสวน 15 นาที ซึ่งสวนแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางของชุมชน เดิมมีสภาพเป็นสวนอยู่แล้ว แต่มีการปรับปรุงให้ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น แต่ยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติและระบบนิเวศเดิม ในอนาคตจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับต้นสักและพืชพรรณนานาชนิด อีกทั้งเป็นสวนป่าสักใจกลางเมืองขนาดใหญ่ ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ ขณะนี้การปรับปรุงคืบหน้าแล้ว 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนเมษายนนี้ โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้ในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว
สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสวนป่าสัก เริ่มต้นสัญญาวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 23 เมษายน 2567 ระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน ปัจจุบันผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้าง ในภาพรวมแล้วเสร็จ 50% ประกอบด้วย งานพื้นที่ทางเดินวิ่งและเทคอนกรีต แล้วเสร็จ 80% คงเหลืองานแอสฟัลต์และทางเดินอาบป่า งานระบบท่อระบายน้ำ แล้วเสร็จ 90% เหลืองานบรรจบระบบ งานวางท่อร้อยสายระบบไฟฟ้าและท่อประปา แล้วเสร็จ 85% งานติดตั้งโคมไฟฟ้า ก่อสร้างฐานรากเสาฟ้า แล้วเสร็จ 40% งานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วเสร็จ 80% คงเหลืองานพื้นผิว
สำหรับแนวคิดในการออกแบบคือ สวนป่าสัก เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ พื้นที่สวนป่าสักเดิม มีพื้นที่ 3 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ ได้อนุญาตให้เขตจตุจักรใช้ประโยชน์จากพื้นที่ โดยได้ถูกนำมาปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พักผ่อนกายใจ โดยมุ่งเน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและยั่งยืน การออกแบบพื้นที่ทางเดิน ที่นั่งพักผ่อน ลานออกกำลังกาย ทำโดยไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศเดิม การใช้วัสดุที่ซึมน้ำ พืชพรรณที่ช่วยบำบัดน้ำ และสร้างพื้นที่รองรับน้ำ แนวทางการออกแบบทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ตอบรับวิถีชีวิตของชุมชน และคงรักษาธรรมชาติและเอกลักษณ์เดิมของพื้นที่ไว้ได้อย่างยั่งยืน ภายในสวนมีการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอย ประกอบด้วย ทางเดิน ทางวิ่งออกกำลังกาย ที่นั่งพักผ่อน ลานอาบป่า สนามตระกร้อ สนามเด็กเล่น ลานป่าสัก (ช่วยรองรับน้ำจากพื้นที่) พรรณไม้ช่วยบำบัดน้ำ ลานผู้สูงอายุ