EDU Research & ESG
RISEจับมือดีป้าเปิดหลักสูตรทรานฟอร์ม ปั้นผู้นำภาครัฐขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล
กรุงเทพฯ-RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรภาครัฐดิจิทัล ผ่านแนวคิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูล และการกำกับดูแลบริหารจัดการองค์กรภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีของโลก แนวคิดองค์กรดิจิทัลจึงถือเป็นกระบวนทัศน์การบริหารจัดการองค์กรที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญ ในขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนองค์กรดิจิทัลในหน่วยงานภาครัฐของไทยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง RISE และดีป้า จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพและได้จัดทำหลักสูตรผู้นำองค์กรภาครัฐดิจิทัล (Government Transformation Xponential: GTX) สำหรับผู้บริหารองค์กรภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและผลักดันองค์กรภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดดต่อไป
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า “ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนด 8 เป้าหมาย ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมา ดีอีเอส ได้ให้มุ่งพัฒนาบุคลากรและหลักสูตรที่สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล และหลักสูตร GTX ถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ตอบโจทย์แนวคิดการสร้างรัฐบาลดิจิทัล และตรงกับนโยบายของดีอีเอส ที่พยายามพัฒนาผู้นำองค์กรให้เข้าใจแนวคิดและวัฒนธรรมองค์กรดิจิทัล”
นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อร่วมก่อตั้ง RISE และผู้อำนวยการหลักสูตร GTX เผยว่า “ในฐานะสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ที่มีพันธกิจสำคัญในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ 1% ได้เล็งเห็นความสำคัญและมุ่งมั่นจะส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างผู้นำองค์กรหรือบุคลากรภาครัฐให้เกิดความรู้ความเข้าใจ มีความเชี่ยวชาญด้านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าไปบริหารจัดการองค์กร รวมถึงความร่วมมือกันในการพัฒนาสู่องค์กรดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้ร่วมมือกับ “ดีป้า” จัดทำหลักสูตร GTX ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรดิจิทัล”
ด้าน ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และผู้อำนวยการหลักสูตร GTX กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน (Digital Transformation) ของหน่วยงานภาครัฐนอกจากการสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) การบริหารจัดการและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว การสร้างผู้นำองค์กรหรือบุคลากรให้มีวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรรองรับความเปลี่ยนแปลงดิจิทัลที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการทักษะการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถนำความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลไปเปลี่ยนแปลงองค์กร และการนำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ ผ่าน 3 กลยุทธ์ ที่ประกอบขึ้นจาก “แนวคิด การกำกับดูแล และเทคโนโลยี” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาหน่วยงานรัฐดิจิทัลอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
- การปรับแนวคิดบุคลากรในองค์กรให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเริ่มต้นที่ ‘ผู้นำ’ โดยผู้นำต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ สร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากร และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ที่สนับสนุนให้บุคลากรสามารถพัฒนาแนวคิดและทักษะแห่งอนาคต เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
- การวางแผนงานและจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เพราะความท้าทายสำคัญที่องค์กรต้องเจอ คือการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้าง ที่ทำให้หลายองค์กรไม่สามารถทรานส์ฟอร์มได้ทันท่วงที การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และวางกลยุทธ์จะช่วยให้สามารถจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมตามความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลาได้
- การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร ซึ่งองค์กรต้องรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเป้าหมาย เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งนี้ องค์กรก็ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
สำหรับหลักสูตร GTX เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้บริหารองค์กรในภาครัฐ รวมถึงกลุ่มธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ ที่มีการร่วมงานกับภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจพร้อมผลักดันองค์กรให้ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการกำหนดเป้าหมายทรานฟอร์มสู่หน่วยงานภาครัฐดิจิทัล จะจัดการเรียนการสอนทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 20 กันยายน 2567 และมีการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศเดนมาร์กในวันที่ 19 ถึง 23 สิงหาคม 2567