In News
ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคม.ค.ปี67 ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในภาคใต้-เหนือ-ตอ.
กรุงเทพฯ-เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในภาคใต้ และภาคเหนือ และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2567 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในภาคใต้ และภาคเหนือ และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.9 และ 8.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -5.8 และ -0.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 15.0 และ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -39.1 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 653.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.2 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.1
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 4.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 63.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 62.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -23.6 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 166.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 200.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานสีข้าว และการอบพืชผลทางการเกษตร ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.3
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 7.4 และ 5.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.8 และ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -8.0 และ -4.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 23.6 และ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 65.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 64.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -31.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 2,221.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานคัดขนาดและบรรจุไข่ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 81.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 83.4
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 2.7 ต่อปี ตามลำดับ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -24.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,184.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวร้อยละ -1.8 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนมกราคม 2567 ชะลอตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ชะลอตัวร้อยละ -9.8 -3.9 และ-25.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 10.0 และ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 65.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 64.6 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -24.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 2,751.2 ล้านบาท ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.6
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลในเดือนมกราคม 2567 ชะลอตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7