Travel Sport & Soft Power
รถไถไร้คนขับไอเดียหนุ่มใหญ่ยางตลาด
กาฬสินธุ์-พบหนุ่มใหญ่ชาวตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ปิ๊งไอเดียแต่งรถไถเป็นรถปลูกมันสำปะหลัง พร้อมติดตั้งร่มกันแดดกันฝน เผยใช้นำเหล็กเก่ามาประยุกต์ต่อท้ายรถไถ ให้คนงานนั่งปลูกมัน รวดเร็ว ประหยัดค่าจ้างแรงงาน 5 คน 1 วันปลูกได้เกือบ 20 ไร่ ในขณะที่หากปลูกแบบเดิมได้เพียงวันละ 8 ไร่
วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน ชาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งวันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ และตรงกับวันหยุด พบว่าในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ยังประกอบอาชีพตามปกติ โดยบางคนเริ่มเก็บผลผลิต ขณะที่บางส่วนที่เก็บผลผลิตแล้ว ก็ได้ทำการเตรียมแปลงและลงมือเพาะปลูกกันอีกครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย 3-4 วันก่อนมีฝนตกลง พื้นดินมีความชุ่มชื้น จึงเหมาะต่อการปลูกมันสำปะหลังที่สุด เพราะท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูกจะงอกงามดี
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามบรรยากาศการปลูกมันสำปะหลังในวันนี้ ผู้สื่อข่าวได้พบนายมนูญ ขนันแข็ง อายุ 47 ปี เกษตรกรชาวบ้านหนองกาว หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังนำคนงาน 5 คนทำการปลูกมันสำปะหลังอยู่กลางไร่ในพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ที่น่าสนใจก็วิธีการปลูกที่แปลกใหม่ โดยนายมนูญและคนงานทั้งหมด ได้นั่งอยู่ด้านหลังรถไถ ที่ดัดแปลงเป็นฐานที่นั่ง โดยมีท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ตัดเป็นท่อนพร้อมปลูกกองอยู่ แต่ที่สะดุดตาที่สุดคือ ในขณะทำการปลูกมัน โดยปักท่อนมันสำปะหลังลงไปในคูคันดินที่ยกร่องไว้แล้วนั้น รถไถได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามร่องแปลงมันไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยไม่มีคนขับ
นายมนูญ ขนันแข็ง อายุ 47 ปี เกษตรกรกล่าวว่า เดิมการปลูกมัน จะใช้แรงงานคนทั้งหมด ทั้งการเตรียมร่องมัน การปลูก โดยวิธีการหาบหรือแบกถุงหรือตะกร้าใส่ท่อนมันสำปะหลังที่ตัดไว้แล้ว เดินวางท่อนเป็นเป็นระยะๆ ห่างกันท่อนละประมาณ 30-45 ซม. จากนั้นก็เดินปักท่อนมันบนคูหรือแปลง ซึ่งนอกจากจะช้า เหนื่อย ผลข้างเคียงที่ตามมาคือปวดหลังปวดสะเอว จึงได้คิดหาวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว โดยหาเหล็กเก่ามาตัดแปลง เชื่อมปะติดปะต่อเป็นฐานหรือที่นั่ง ที่วางท่อนมันสำปะหลัง โดยก่อนลงมือปลูกก็ถอดผานหรือใบไถออก ก็เอาอุปกรณ์ที่ใช้นั่งปลูกมันประกอบแทน ซึ่งทำไว้ทั้งขนาด 3 คนปลูก และ 5 คนปลูก ตามจำนวนคนงาน คือเดินหน้าปลูกทีละ 5 แถว ความเร็วรอบใช้เกียร์ต่ำ ปล่อยให้รถไถเดินตามร่องแปลงมันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องใช้คนขับ กะระยะจะสิ้นสุดแปลงมันคนขับก็จึงค่อยบังคับตามปกติ ตั้งลำเดินหน้าปลูกใหม่
นายมนูญกล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบแรงงานคนปลูก 5 คน จากเดิมที่เดินปลูก จะได้วันละประมาณ 8-10 ไร่ แต่ในปัจจุบันหลังจากที่ประยุกต์วิธีปลูกแบบใหม่ จะได้ถึงวันละ 15-20 ไร่ทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ว่าจะลงมือปลูกแต่เช้าหรือปลูกสายหรือพบอุปสรรคอย่างแดดร้อนหรือฝนตกเท่านั้น ที่สำคัญนอกจากจะได้งานเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวแล้ว ยังประหยัดค่าแรงถึงครึ่งต่อครึ่ง โดยคนเดินปลูกวันละ 300 บาท ขณะที่ค่าแรงคนนั่งปลูกบนท้ายรถไถวันละ 150 บาทเท่านั้น ผลดีของการประยุกต์ปลูกมันแบบใหม่ จึงได้หลายด้าน คือได้งานเยอะ ประหยัดค่าจ่างแรงงาน เสร็จรวดเร็วทันใจ
นายมนูญกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ การดัดแปลงรถไถเป็นรถปลูกมัน ยังสะดวกสบาย ไม่เหนื่อย ไม่ร้อน เพราะหากแดดแรง หรือฝนตก ยังมีร่มกางกันแดดกันฝนอีกด้วย หรือหากจะปลูกตอนกลางคืนก็สามารถทำได้ จึงเป็นรถสารพัดประโยชน์ ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ หลังจากปลูกมันสำปะหลังเสร็จ ก็ถอดอุปกรณ์สำหรับนั่งปลูกออก ประกอบผานไถหรืออุปกรณ์ไถพรวนได้ตามปกติ ทั้งนี้ ตนเป็นคนแรกในเขตนี้ ที่ดัดแปลงรถไถเป็นรถปลูกมันสำปะหลัง โดยทำมา 3 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการพบนายมนูญ ขนันแข็ง เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ชาวบ้านหนองกาว ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พาคนงานนั่งท้ายรถไถ ที่ดัดแปลงเป็นรถปลูกมัน โดยไม่ใช้คนขับ ปลูกมันได้ทีละ 5 แถว มองดูเหมือนรถไถหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ จึงเป็นการใช้นวัตกรรมทางภูมิปัญญาที่น่าทึ่ง และที่สำคัญ สุดประหยัด รวดเร็ว จึงเป็นภาพที่สร้างสีสัน ในวันแรงงานแห่งชาติวันนี้