EDU Research & ESG
รมว.อว.มอบวว.-มรภ.อุดรธานีพัฒนาเชิง พื้นที่ภาคอีสานตอนบนด้วยวทน.
กรุงเทพฯ-“ศุภมาส” มอบ วว. - มรภ.อุดรธานี พัฒนาเชิงพื้นที่ภาคอีสานตอนบนด้วย วทน. อย่างครบวงจร ตามมาตรฐานสากลขับเคลื่อนโครงการ Quick winภูมิภาค : Up-Skill Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของอว.
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ( วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและจังหวัดอุดรธานี มุ่งเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งภาครัฐ/ เอกชนตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” สนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว สินค้าท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตร Non degree เฉพาะทางเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนของจังหวัดและอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับงานพืชสวนโลกในปี 2569โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปีในการนี้ ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. และ ดร.เอกราช ดีนาง รองอธิการบดี มรภ. อุดรธานี ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมอาคาร 17 มรภ. อุดรธานี
โอกาสเดียวกันนี้ วว. และ มรภ.อุดรธานี ร่วมจัดฝึกอบรมระยะสั้น “โครงการ Quick win : Up-Skill Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.” ภูมิภาคจำนวน 6 หลักสูตร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งเป็นการต่อยอดดำเนินโครงการฯ จากกรุงเทพมหานคร ผลการดำเนินงานทั้งสองแห่งมีผู้ประกอบการ บุคลากรภาครัฐ/เอกชนเข้าร่วมอบรมกว่า 1,100 คน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของ วว. ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กว่า 20 ปี ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับใบประกาศนียบัตรจากกระทรวง อว. ด้วย
ทั้งนี้หลักสูตรฝึกอบรม ณ มรภ.อุดรธานี ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ ด้านระบบมาตรฐานการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานท่องเที่ยวไทย การจัดการด้านบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงนำความรู้ด้านมาตรฐานสากลไปพัฒนาระบบบริการจัดการผลิตภัณฑ์และบริการตามมาตรฐานสากลต่อไป
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.กล่าวถึงบทบาทขององค์กรภายใต้ความร่วมมือกับ มรภ.อุดรธานีว่า วว.จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขยายฐานการให้บริการลูกค้าด้าน วทน. ในพื้นที่อุตสาหกรรม ร่วมสร้างความตระหนักและการให้ความสำคัญกับงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยกำหนดนโยบาย ทิศทาง ราคาและกลุ่มลูกค้าบริการอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนและระบบการให้บริการด้าน วทน. ของประเทศ ซึ่ง มรภ.อุดรธานี ในฐานะเจ้าบ้านนั้นจะช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มศักยภาพเป็นจุดเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ด้าน วทน.ในพื้นที่ เพื่อให้ มรภ. เป็นหน่วยงานให้บริการพื้นที่แบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ขอรับบริการในพื้นที่ อันจะส่งผลต่อการเติบโตในภาคการผลิตระดับอุตสาหกรรม SMEsและภาคครัวเรือน ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาใหักับพื้นที่ได้ครบทุกมิติ เพื่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว
“...ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรสูงสุดของประเทศ มีโครงสร้างของประชากรที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันระหว่างรายได้สูง อีกทั้งมีทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ พื้นที่เกษตร จำนวนมาก รวมทั้งมีขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบได้อย่างมากในการนำ วทน.ไปใช้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ให้กับพื้นที่ ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ วว. ในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน SMEsและภาคอุตสาหกรรม ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้พันธมิตรเป็นข้อต่อสำคัญในการทำงานเชิงพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีกล่าวว่า มรภ.อุดรธานี มุ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัย ผลิตบัณฑิตจิตอาสา พัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือกับ วว. นั้น จะนำความรู้ไปยกระดับและเสริมสร้างพัฒนาทักษะของบุคลากรในระดับสากลต่อไป รวมทั้งนำไปตอบโจทย์การลงทุนของภาคการผลิตอุตสาหกรรม และต่อยอดสู่การพัฒนาพื้นที่อื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนต่อไป