In Global
ผู้พัฒนาเครื่องบินของจีนเล็งส่งเครื่องบิน สัญชาติจีนรุกตลาดอาเซียน
บริษัทการบินพาณิชย์จีน (The Commercial Aircraft Corporation of China) (COMAC) ผู้พัฒนาเครื่องบิน C919 และ ARJ21 กำลังอยู่ระหว่างนำเครื่องบิน 2 รุ่นนี้ จัดแสดงการบินใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากเข้าร่วมงาน Singapore Airshow 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงด้านการบินและอวกาศงานใหญ่ของเอเชีย เพื่อยืนยันว่า เครื่องบินที่จีนพัฒนาทั้ง 2 รุ่น พร้อมแล้วสำหรับการให้บริการในภูมิภาคอาเซียน
สำนักข่าว China Daily ของจีน รายงานว่า เครื่องบิน ARJ21 เป็นเครื่องบินโดยสารที่จีนพัฒนาขึ้นเป็นรุ่นแรก เครื่องบินรุ่นนี้สามารถทำการบินในระยะ 2,225-3,700 กิโลเมตร จึงเหมาะสำหรับการบินระหว่างเมืองใกล้ๆ เริ่มทำการบินในเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2016 และต่อมาในปี 2022 จีนส่งมอบเครื่องบิน ARJ21 ให้กับสายการบิน TransNusa ของอินโดนีเซีย ถือเป็นครั้งแรกของการขายเครื่องบินพาณิชย์สัญชาติจีนให้กับต่างชาติ สายการบิน TransNusa มีเครื่องบิน ARJ21 2 ลำ ให้บริการใน 4 เส้นทาง ระหว่างจาการ์ตากับเมืองอื่นๆ ล่าสุด COMAC ระบุว่า มีการส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ให้กับสายการบินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศไปแล้ว 127 ลำ
ส่วนเครื่องบิน C919 ได้รับการออกแบบให้มีที่นั่งในห้องโดยสารจำนวน 158-192 ที่นั่ง สามารถบินได้ในระยะทาง 4,075-5,555 กิโลเมตร เริ่มทำการบินในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษาคม 2023 ล่าสุดCOMAC มีคำสั่งซื้อเครื่องบิน C919 จำนวนกว่า 1,100 ลำ ทั้งจากในประเทศจีนและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก Tianju Group ว่า ในงาน China-Asean Expo ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี-จ้วง COMAC ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องบินกับ Brunei’s Gallop Air จำนวน 30 ลำ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในงาน Singapore Airshow 2024 บริษัทผู้ให้บริการการบินของจีน คือ Tibet Airlines และ Henan Civil Aviation Development and Investment Group ได้ลงนามในคําสั่งซื้อเครื่องบิน C919 จํานวน 40 ลํา และ ARJ21 จํานวน 16 ลําในงานนี้ด้วย
โดย COMAC ระบุว่าจุดขายสำคัญของเครื่องบิน C919 คือ เทคโนโลยี โดย COMAC มีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทั้งการใช้พลังงานใหม่ และเทคโนโลยีประดิษฐ์ในการพัฒนาเครื่องบิน และมีแผนจะปรับเปลี่ยนที่นั่งในห้องโดยสารจาก 158-192 ที่นั่ง เป็น 130-240 ที่นั่ง
COMAC ตั้งสำนักงานและคลังสินค้าที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีนเพื่อรุกตลาดอาเซียนและต่างประเทศโดยเฉพาะ รวมถึงจะมีการสร้างศูนย์บำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องบินสำหรับลูกค้าต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแผนจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมเพื่อรองรับการบริการลูกค้าต่อไป นอกจากนี้ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า COMAC เตรียมลงทุนหลายหมื่นล้านหยวน เพื่อขยายกำลังการผลิตเครื่องบิน C919 เพื่อรองรับอุตสาหรรมการบินในอนาคต โดย COMAC ประเมินว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการเครื่องบินโดยสารในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มจาก 3,000 ลำ เป็น 9,000 ลำ
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN