EDU Research & ESG

วว.ต้อนรับผู้ตรวจสำนักนายกฯลงติดตาม การจัดการขยะต้นแบบ'ตาลเดี่ยวโมเดล'



วว. ต้อนรับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงในโอกาสติดตามการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนต้นแบบ "ตาลเดี่ยวโมเดล"

ดร.เรวดี  อนุวัฒนา   ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  พร้อมคณะนักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ เป็นผู้แทน วว. ร่วมให้การต้อนรับ นายสุวิทย์ วิจิตรโสภาผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการสำนักนายรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 1  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบที่ 1ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน โครงการเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนต้นแบบ "ตาลเดี่ยวโมเดล"เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนตาลเดี่ยวหมู่ที่ 9 ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบในการจัดการขยะชุมชนที่เป็นรูปธรรม และได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเทคโนโลยีการจัดการขยะที่เหมาะสมของ วว. ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนฯ  วว.   มีรูปแบบการบริหารจัดการขยะโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูป  เป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง   เป็นการทำงานแบบชุมชนมีส่วนร่วม  ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 3  ส่วน คือ 1) ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะและระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก 2) ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง  และ 3) นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและการนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับการผลิตสารปรับปรุงดินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

ทั้งนี้ วว. เป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานแกนหลักร่วมกับพันธมิตร ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้ โครงการฯ ตาลเดี่ยวโมเดล ในการจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยมีการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติจริงในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้นแบบในการจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility : MRF)  และศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Smart Recycling Hub) และเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม  Net  Zero  Emission  สระบุรีแซนด์บ็อกซ์  (Saraburi  Sandbox)  ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของสระบุรี  และเป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และขับเคลื่อนรายสาขา (Sector) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทยต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านการบริหารจัดการขยะชุมชน วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009  เว็บไซต์ www.tistr.or.th  อีเมล tistr@tistr.or.th  หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/