Infor Cars

รมว.อุตฯเร่งผลักดันอุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ รับลูกข้อเสนอกลุ่มผปก.ย้ำไม่ทิ้งใคร



กรุงเทพฯ-“รมว.พิมพ์ภัทรา” เร่งผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และสนับสนุน แบบไร้รอยต่อ รับลูกข้อเสนอกลุ่ม ผปก. ย้ำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นและประเด็นปัญหาจากสมาคมเครือข่ายและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และสนับสนุน ในด้านต่าง ๆ อาทิ ผลกระทบในการแข่งขันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการไทยจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การลดอัตราอากรขาเข้า การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการขยายตลาดเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง ย้ำกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมสั่งการหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าให้การสนับสนุนได้ในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มศักยภาพ นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลได้มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม อาทิ การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นต้น โดยในขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีนักลงทุนมากมายให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ

แต่ในขณะเดียวกันการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE ปรับตัวลดลง ส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนตกลงเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน และมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประสบปัญหาดังที่กล่าวถึง กระทรวงอุตสาหกรรม จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบถึงประเด็นปัญหาความต้องการจากภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมทั้งเป็นแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนที่ตรงจุดและตรงต่อความต้องการ รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า จากการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ พบว่า ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ ปัญหาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ปัญหาต้นทุนการเงินที่สูง ปัญหาจากมาตรการความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมถึงมาตรการและนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการต่ออายุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ (CKD) และการกำหนดคำนิยามของวัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น Local Content ในระบบราง เป็นต้น

ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนใน 3 ประเด็นหลัก ตามข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม โดยการเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการลดการปล่อย CO2 เพื่อรองรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 2) การส่งเสริม สนับสนุน และปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่นตามที่ผู้ประกอบการได้เสนอมา เช่นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วน Aftermarket การผลิตชิ้นส่วนทดแทน (REM) อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการบิน และระบบราง เป็นต้น 3) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทาง SME D Bank และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสนับสนุนการค้ำประกันผ่านโครงการติดปีก SMEs ไม่มีหลักทรัพย์ดีพร้อมค้ำประกันให้

ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำการศึกษาและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอของผู้ประกอบการต่อไป รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการหารือกับทางกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางการการคิดอัตราอากรขาเข้าของอุตสาหกรรมส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสร่วมหารือ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกับการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น โดยมีแนวทางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมสนับสนุน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น 1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจากยานยนต์ 2) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3) การลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle) และ 4) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมทั้ง เสนอให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาให้ไทยเป็น แหล่งสุดท้ายในการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (Last man standing) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกับการกระทรวง METI มีความเห็นพ้องกับแนวทางนี้เช่นกัน