In News
ภารกิจนายกฯร่วมประชุมอาเซียน-ออสซี่ ไทยผลักดันเชื่อมโยงพลังงานสะอาด
ต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ต้องส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ และต้องร่วมกันจัดการกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมั่นความร่วมมือจะทำให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ร่วมกัน และนายกฯ สัมภาษณ์สรุปผลสำเร็จการเดินทางร่วมประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ไทยผลักดันความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และสัญญาจะร่วมมือกับภูมิภาค เพื่อความสำเร็จในภูมิภาค ก่อนหน้านี้ นายกฯ ร่วมประชุมเต็มคณะผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ผลักดัน seamless connectivity ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ และ green agenda วาระสีเขียวเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและออสเตรเลีย
วันนี้ (วันที่ 6 มีนาคม 2567) เวลา 13.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 4 ชม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Retreat) ณ ห้อง State Ballroom ที่ Government House Victoria โดยนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจะเป็นผู้กล่าวเปิด และกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ต่อภูมิภาค ประเด็น สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือ กับปัญหาท้าทายร่วมกัน” (Vision for the Region, Strategic Issues and How ASEAN and Australia Can Work Together to Address Shared Challenges) จากนั้น ผู้นำประเทศอาเซียนจะกล่าวถ้อยแถลง มีสาระสำคัญจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความมั่นคงในภูมิภาค ภูมิทัศน์ของโลก และการร่วมกันจัดการกับข้อห่วงกังวลร่วมกันจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายที่สำคัญ
1. จำเป็นต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเชื่อว่าเราทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกัน คือภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง ยึดตามกฎ และครอบคลุม โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่สหรัฐฯ และจีนใช้ไทยในการเป็นเวทีสำหรับการหารือเพื่อรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์
นอกจากนี้ จำเป็นต้องเสริมสร้างสถาบันระดับภูมิภาคและพหุภาคีเพื่อส่งเสริมการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น เราหวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนกลไกของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของ AUKUS และ Quad ด้วย
อินโดแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ โดยความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับการเดินเรือที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นไปตามกฎ จึงยินดีให้ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ภายใต้ the ASEAN Outlook
ในส่วนของตะวันออกกลาง มีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซา ต้องการย้ำข้อเรียกร้อง ให้ยุติความรุนแรง และการสู้รบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที ซึ่งรวมทั้งคนไทยด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา เชื่อว่าทางออกที่สันติ มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ของเมียนมาคือทางออกด้านการเมือง อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยได้ริเริ่มโครงการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียนในการผลักดันฉันทามติ 5 ข้อ หวังว่าจะเป็นเส้นทางสู่การเจรจาที่สร้างสรรค์ และเป็นเวทีสำหรับการมีส่วนร่วมของเมียนมากับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่อาเซียนสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ และหวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ด้วย
2. ความจำเป็นในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวาดเร็ว เราจึงต้องป้องกันเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของเราด้วยการกระจายตลาดและการลงทุน ซึ่งอาเซียนและออสเตรเลียสามารถเสริมจุดแข็งของกันและกันเพื่อยกระดับความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร
ซึ่งไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเชื่อว่าการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมของออสเตรเลียในการเสริมสร้างศักยภาพและสนับสนุนเครือข่ายของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงผ่านกระบวนการบาหลี มีความจำเป็นอย่างมาก
3. ความจำเป็นในความร่วมมือเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นความท้าทายที่ชัดเจน และเป็นปัจจุบัน เราต้องพยายามมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ และเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้า โดยไทยได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ภายในปี 2040 รวมทั้งออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน และได้ระดมทุนไปแล้ว 12.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความท้าทายเร่งด่วนอีกประการ คือปัญหา PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action: CLEAR Sky) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งหวังว่าจะได้ร่วมมือออสเตรเลียในด้านนี้
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นหุ้นส่วน สู่ภูมิภาคที่มีสันติสุข มั่นคง และมีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าที่ประชุมจะประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่ได้แลกเปลี่ยนกันวันนี้
นายกฯ สัมภาษณ์สรุปผลสำเร็จการเดินทางร่วมประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย
ช่วงเวลา10.20 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยได้ระบุว่า การเดินทางมาร่วมการประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย เชื่อมั่นว่าการเดินทางมาครั้งนี้ได้เพิ่มโอกาส สร้างประโยชน์ให้ประเทศ และประชาชนไทยอย่างมาก
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้เพื่อส่งเสริมถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย ภายใต้ 3 สามเสาหลักของอาเซียน 1 การเมืองและความมั่นคง 2 เศรษฐกิจ 3 สังคมและวัฒนธรรม และถือเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีอาเซียน-ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน
ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยพร้อมผลักดัน ในสองด้านหลักได้แก่ 1. ความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ Connectivity ได้แก่ การค้าการลงทุน เพิ่มมูลค่าทางการค้าผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ด้านที่สอง ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอย Seamless ด้านที่สาม ด้านดิจิทัลโดยได้เริ่มพัฒนาเจรจาความตกลง DEFA (Digital Economy Framework Agreement) ซึ่งจะสร้างมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในด้านสุดท้ายที่มีความสำคัญมากคือ ด้านประชาชน การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างประชาชนผ่านการส่งเสริม Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือด้านการเชื่อมโยงด้านการตรวจลงตราระหว่างกัน และ 2. การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งไทยสามารถร่วมกับ ออสเตรเลีย ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ EV ครบวงจร รวมถึงการออก Sustainability bonds
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเชื่อมั่นว่าจะเกิดความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคผ่านการมีเป้าหมายร่วมกัน และจะเกิดความร่วมมือ เป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนา ซึ่งจะต้องไม่ลืมที่จะต้องรับมือกับ Climate Charge ร่วมกันด้วย โดยประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมมืออย่างเต็มที่ในกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จของภูมิภาค
โดยในส่วนอื่นๆ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้นำ 4 ประเทศ ในการพบหารือกับผู้นำลาวได้พูดถึงการค้าชายแดน พบหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้พูดคุยถึงสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นโอกาสให้พูดคุยเรื่องโอกาสซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่าเราควรเริ่มพูดคุยแนวทางการแก้ปัญหาจากการเพิ่มโอกาส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการลงพื้นที่เมื่อเร็วๆนี้ เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการขุด Hidden Gem ถือเป็นอีกมิติในการแก้ไขปัญหา และในส่วนของการคบหากับผู้นำออสเตรเลียนั้นได้พูดคุยเรื่องการสนับสนุนการนำเข้าแรงงานไทยมาทำงานด้านการเกษตรที่ออสเตรเลีย และได้ขอบคุณที่ออสเตรเลียที่ดูแลนักเรียนไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอด ในการพบหากับนิวซีแลนด์ ได้พูดคุยกันอย่างเป็นกันเองครับทั้งในเรื่องของ Visa Free และในปีนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์มีกำหนดการเดินทางไทยในช่วงเดือนเมษายน
ในส่วนของการพบหารือกับฝ่ายเอกชน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้นำเอกชน 6 บริษัทใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทสำคัญทั้งในด้านอุตสาหกรรม พลังงานสะอาด และด้านกองทุน ซึ่งผมเชื่อมั่นมากว่าประเทศไทยคนไทยจะได้ประโยชน์จากการเดินทางครั้งนี้
นายกฯ ร่วมประชุมเต็มคณะผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ผลักดัน seamless connectivity
เวลา 9.00 น. (เวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 4 ชั่วโมง) ณ Melbourne Convention and Exhibition Centre นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้นำอาเซียนและนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Plenary) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ภายใต้หัวข้อ ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillarsมีสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีพร้อมผู้นำอาเซียนและออสเตรเลีย ต่างยินดีที่อาเซียนและออสเตรเลียได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียนับเป็นประเทศแรกที่ได้รับสถานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น จนนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) พร้อมเสนอให้ที่ประชุมฯ ใช้โอกาสที่สถานการณ์โลกปัจจุบันได้แบ่งเป็นหลายขั้ว กระชับความร่วมมือทั้งภายในภูมิภาคและระดับโลก เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและออสเตรเลีย ผ่านการผลักดันความร่วมมือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ระบุ 2 ประเด็นเร่งด่วนซึ่งจะทำให้เกิดสันติสุข และความมั่นคง ดังนี้
ประการแรก การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ (seamless connectivity) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนและออสเตรเลียได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพอย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1) ความเชื่อมโยงการค้าและด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งเสริมมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน ผ่านการเชื่อมโยงตลาดการค้าและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งกรอบ RCEP และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area: AANZFTA)
2) ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ โดยเสนอให้ออสเตรเลียซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการท่าเรือ กระชับความร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเอกสารแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ (Guidelines on Smart Ports) รวมทั้งเชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนใน โครงการ Landbridge EEC ระบบขนส่งทางราง และสนามบินด้วย
3) ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ผ่านการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังพัฒนากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่ถือเป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับแรกของโลก และคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนได้ 2 เท่า เป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมหวังว่าออสเตรเลียจะใช้ข้อริเริ่มออสเตรเลียสำหรับอาเซียน (Aus4ASEAN) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของอาเซียนในอนาคตด้วย
4) ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ด้วย Soft power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries) ต้องการการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างกันของประชาชน ซึ่งไทยหวังว่าทุนจากออสเตรเลียที่มอบให้นักเรียนในอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN – Australia จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และการอบรมเพิ่มพูนทักษะ ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจระหว่างกันให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง การส่งเสริมวาระสีเขียวในภูมิภาค โดยสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งออสเตรเลียสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียน ในการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน การเงินสีเขียวผ่านพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการจัดการคาร์บอน และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (The ASEAN Strategy for Carbon Neutrality)
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย ในการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อมุ่งไปสู่ภูมิภาคที่เชื่อมโยงและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต