In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน แนะแนวปฏิบัติปชช.รับอากาศเปลี่ยน



กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม.เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อนว่า สนพ.ได้เฝ้าระวังสถานการณ์ความร้อนและสุขภาพ โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อสารเตือนภัยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน

สำหรับประชาชนสามารถป้องกันตนเอง โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ควรเลือกเวลาที่ทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่มส่วนวิธีสังเกตอาการโรคลมแดด ขอให้ระวังหากเกิดอาการตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 40-41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก มีอาการโซเซ เป็นตะคริว รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง หรือเป็นลมหมดสติ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก และใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ สามารถติดต่อประสานขอรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน สายด่วน 1669 บริการตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้จัดทำคําแนะนําการปฏิบัติตัวรับมืออากาศร้อนสําหรับประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมถึงความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากความร้อน อาการ และคําแนะนําการดูแลตนเอง เผยแพร่ผ่านสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงเรียน สำนักสิ่งแวดล้อม และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารถึงประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ชมรมผู้สูงอายุ นักเรียน ผู้ดูแลสวนสาธารณะ ผู้ดูแลเด็กเล็ก ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงโรคอ้วน และผู้ทำงานกลางแจ้ง เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไปเตรียมเฝ้าระวัง ตรวจสอบอุณหภูมิอากาศระหว่างวันและปฏิบัติตามคำแนะนำ รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อป้องกันอันตราย ลดผลกระทบและเข้าสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที