In Bangkok
กทม.จัดระเบียบการค้าตลาดดาวคะนอง ส่องคิวอาร์โค้ด-ตีเส้นแนวผู้ค้า/ดูแยกขยะ
กรุงเทพฯ-ธนบุรีส่องคิวอาร์โค้ดตรวจสอบผู้ค้าหน้าตลาดดาวคะนอง คลองสานตีเส้นตรึงแนวผู้ค้าถนนท่าดินแดง ชมคัดแยกขยะโรงแรมเพนนิซูลา คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โครงการโฟลบายแสนสิริ
(7 มี.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรีและเขตคลองสาน ประกอบด้วย
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดดาวคะนอง ฝั่งขาออก เขตธนบุรี สืบเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ขนาดร้านค้าต้องไม่เกินขอบเขตที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมกันนี้ได้สแกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบตัวตนของผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนทำการค้าไว้กับทางเขตฯ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นแอบสวมรอยเข้ามาทำการค้าในจุดดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้า รวมถึงให้เขตฯ พิจารณาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดภายในระยะเวลา 3 เดือน หากผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ให้ยกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว
ปัจจุบันเขตธนบุรี มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 215 ราย ได้แก่ 1.ตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. ฝั่งขาออก 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 74 ราย 2.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งขาออก 26ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 66 ราย 3.ถนนรัชดาภิเษก (ไทยช่วยไทย) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 4.สี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-21.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 74 ราย ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-24.00 น. 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 3.ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-24.00 น. 4.หน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-24.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย
จากนั้นตรวจการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก เขตคลองสาน ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยบนพื้นที่ทางเท้า ผู้ค้าตั้งวางแผงค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด และไม่เก็บอุปกรณ์หลังเลิกทำการค้า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ขีดสีตีเส้นแนวพื้นที่ทำการค้า เพื่อให้ผู้ค้าตั้งวางสินค้าในแนวเส้นที่กำหนด โดยจะตีเส้นแบ่งช่องระหว่างร้านค้าอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ค้าแต่ละร้านตั้งวางสินค้าภายในกรอบที่กำหนด รวมถึงกวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือแนวเส้นที่เขตฯ กำหนดไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนดไว้หรือจุดที่จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณตลาดสำเพ็งท่าดินแดง
สำหรับเขตคลองสาน มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 457 ราย ดังนี้ 1.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ผู้ค้า 91 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 3.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 4.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 1-5 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. 5.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 6.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2-4 ผู้ค้า 1 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-24.00 น. 7.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8-12 ผู้ค้า 2 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 8.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก บริเวณหน้าวัดเศวตฉัตร สะพานเจริญนคร 4 ถึงซอยเจริญนคร 29/1 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 9.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. และ 10.ถนนเจริญรัถ ฝั่งขาออก จากหัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-08.00 น. และถนนเจริญรัถ ฝั่งขาเข้า จากหัวถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 228 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2-4 ผู้ค้า 1 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8-12 ผู้ค้า 2 ราย
ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 14 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ดังนี้ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกคลองสาน ถึงเจริญนครซอย 15 ผู้ค้า 15 ราย 3.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยเจริญนคร 14 ผู้ค้า 28 ราย 4.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนเจริญนคร ถึงปากซอยเจริญรัถ 4 ผู้ค้า 13 ราย 5.บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ผู้ค้า 25 ราย 6.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 ผู้ค้า 10 ราย 7.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย 8.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 9.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญนคร 18-46 ผู้ค้า 29 ราย 10.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่อาคารไทยศรี ถึงคลองบางไส้ไก่ ผู้ค้า 8 ราย 11.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกท่าดินแดง ถึงแยกประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 7 ราย 12.บริเวณถนนเชียงใหม่ทั้ง 2 ฝั่งตลอดทั้งเส้น ผู้ค้า 14 ราย 13.บริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย และ 14.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5 ผู้ค้า 3 ราย ในปี 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ยกเลิก/ยุบรวมจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกบ้านแขก ถึงแยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 3 ราย 2.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 5-7 ผู้ค้า 2 ราย ส่วนในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 ผู้ค้า 10 ราย 2.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5 ผู้ค้า 3 ราย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ถนนเจริญนคร วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีจุดทิ้งเศษอาหารที่เหลือจากห้องอาหาร มีจุดรวมขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นห้องแยกเป็นสัดส่วน มีการคัดแยกเศษอาหาร โดยนำมาใส่ถังแล้วนำไปเก็บที่ห้องเก็บเศษอาหาร มีผู้ประกอบการมารับซื้อทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกขวดพลาสติก กระดาษ และกล่อง โดยผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลทุกวัน 3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่สามารถคัดแยกได้ จะนำไปทิ้งในจุดที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย มีตู้รวมทิ้งขยะอันตราย ผู้ประกอบการมารับซื้อ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,400 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ โฟล บาย แสนสิริ (FLO BY SANSIRI) ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 22 ชั้น จำนวน 1 อาคาร พร้อมระบบสาธารณูปโภคภายในอาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ ประเภทการตรวจวัดควันดำ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ในการนี้มี นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี ว่าที่ร้อยตรีสรวุฒิ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการเขตคลองสาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี เขตคลองสาน สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล