EDU Research & ESG

มก.-เชฟรอน-ซีโอฮุนจับมือ10รร.มัธยม เดินหน้าขยายแนวคิด'สุขภาพหนึ่งเดียว'



กรุงเทพฯ-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-เชฟรอน-ซีโอฮุน ผนึกกำลังลงนาม MOU ร่วมกับ 10 โรงเรียนแกนนำ เดินหน้าโมเดล “สุขภาพหนึ่งเดียว” สร้างองค์ความรู้รับมือกับโรคระบาด พร้อมตั้งเป้าขยายการเข้าถึงหลักสูตรไปยังโรงเรียนทั่วประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.วิพัฒน์ คุรุจิตธรรม ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโอฮุน เปิดเผยในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ 10 โรงเรียนแกนนำระดับมัธยมศึกษา ภายใต้โครงการ Piloting the One Health Core Competency Course for High School Students ว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ซีโอฮุน และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรและเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการยับยั้งโรคระบาด ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ที่ต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสภาวะสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน”

โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ต่อยอดการเรียนรู้ภายใต้หลัก “สุขภาพหนึ่งเดียว” ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2. พัฒนาครูแกนนำ และนักเรียนแกนนำ ผ่านการเรียนรู้แบบออนไลน์และการฝึกปฏิบัติจริง 3. สร้าง Best Practice ที่เหมาะสม 4. ขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการศึกษาขั้นพื้นฐานกับ หน่วยงานระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการหาทางออกให้กับวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ประเทศกำลังเผชิญ

ปัจจุบัน ซีโอฮุน ดำเนินการอบรมพัฒนาบุคลากรด้าน “สุขภาพหนึ่งเดียว” มาแล้วกว่า 12 ปี ใน 8 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ครอบคลุมทั้งในระดับนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม รวมแล้วมากกว่า 50,000 ราย

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการนี้ คือ การออกแบบโมเดลการเรียนการสอน และแพลตฟอร์มด้านการฝึกอบรมที่เข้าถึงง่ายสำหรับครูและนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของคณะศึกษาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะวนศาสตร์ และคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เนื้อหาหลักสูตรจะเป็นการผสมผสานความรู้และทักษะด้าน Hard Skill และ Soft Skill เข้าด้วยกัน ซึ่งจะครอบคลุมความรู้ทางด้านสุขภาพหนึ่งเดียว สมรรถนะหลักทั้ง 7 โมดูล การบูรณาการด้านการดูแลสุขอนามัยเบื้องต้นที่ประยุกต์เข้ากับโรคประจำถิ่น โรคตามฤดูกาล รวมถึงวิธีรับมือโรคระบาดต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายการเข้าถึงหลักสูตรนี้ไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร. ลดาวัลย์ กล่าวเสริม

สำหรับ 10 โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนสงวนหญิง, โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์, โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม), โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศศึกษา

ซึ่งจากผลการสำรวจเบื้องต้นจาก 10 โรงเรียนแกนนำในภาคกลางที่เข้าร่วมโครงการพบว่า โรคจากระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 และโรคไข้เลือดออก ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อการเรียนรู้และสุขภาพของนักเรียน

ด้าน นายภาณุ บุญวัฒโนภาส รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ ‘สร้างเสริมองค์ความรู้สุขภาพหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่เชฟรอนได้ร่วมจัดทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้ความรู้แก่ครูระดับอนุบาลและประถมศึกษา โดยโครงการ Piloting the One Health Core Competency Course for High School Students จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเติมช่องว่างด้าน Soft Skill เกี่ยวกับสุขภาวะให้เด็กและเยาวชนได้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งด้านการรักษาและป้องกันไปเผยแพร่ต่อให้พ่อแม่ เพื่อน และคนใกล้ตัวรับรู้และสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไป

การเสริมสร้างองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติภายใต้แนวคิด One Health สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเชฟรอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ควบคู่ไปกับภารกิจการจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้นให้กับประเทศด้วยความปลอดภัยและเชื่อถือได้มาตลอดกว่า 60 ปี โดยโครงการนี้จะช่วยให้เยาวชนในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถรับมือกับการระบาดของโรคประจำถิ่น โรคจากปัญหาสุขภาวะ สัตว์ ภูมิอากาศ หรือ โรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 ได้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต” นายภาณุ กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นเครือข่ายทางด้านวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพภายใต้แนวคิด One Health โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษากว่า 100 แห่งจาก 8 ประเทศอาเซียน และมีสำนักเลขาธิการ SEAOHUN ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่