EDU Research & ESG
สกสว.ร่วมรับฟังเสียงคนพื้นที่ชายแดนใต้ ผลักดันทุนววน.นำกลไกวิจัย'แก้จน'
กรุงเทพฯ 11 มีนาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟังความต้องการจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และหารือแนวทางการบูรณานำผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนสร้างสันติภาพฯ สู่การขับเคลื่อน พัฒนา และแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 5 มิติ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสันติภาพและสถาบัน และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา เพื่อให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นร่วม 20 ปี ถูกแก้ไขได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้การจัดสรรงบประมาณที่ใช้สนับสนุนงานวิจัยตรงกับความต้องการและบริบทของพื้นที่ โดยมีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้บริหารจาก สกสว. และคณะผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน ร่วมรับฟังความต้องการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบหมายให้มีการประสาน สกสว. บพท. และ วช.ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในกระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัย และ สนับสนุนทุนวิจัย ร่วมสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมรับฟังปัญหาและความต้องการของพื้นที่ และข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้วางแผนขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณที่ใช้สนับสนุนงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการ ให้ความรู้จากการวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นกลไกเชื่อมต่อการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพราะความสำเร็จและผลกระทบจากการวิจัยจะขยายผลด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ใช่แค่หน่วยงานในระบบ ววน. ดังนั้นการประชุมนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังความเห็นความต้องการและแนวทางการบูรณาการงานวิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากการวิจัยประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรงและการสร้างสันติภาพ
“เพื่อให้การบูรณาการงานวิจัย และการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์มีประสิทธิภาพ และประสิทธิพลได้ดีขึ้น ตนในฐาน กมธ. เพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนสร้างสันติภาพฯ จะนำแนวทางการบูรณาการฯ และผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นำเสนอแก่คณะกรรมการฯร่วมสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ เพื่อให้ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นร่วม 20 ปี ถูกแก้ไขได้ดีขึ้น”
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กระทรวง อว. ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการจัดทำแผนด้าน ววน. และ จัดสรรงบประมาณด้านงานวิจัย ทั้งในส่วนของงบประมาณดำเนินงานเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (FF) ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกระบบ ววน. รับงบประมาณส่วนนี้ กว่า 180 หน่วยงาน และงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (SF) ซึ่งมีหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) รวม 9 PMU รับงบประมาณส่วนนี้ไปดำเนินการ ซึ่งมีหลายโครงการตรงกับความต้องการของพื้นที่ที่ได้นำเสนอ ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพและสถาบัน และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา หรือเรียกรวม ๆ ให้เข้าใจง่ายว่า 5 P ภายใต้แนวคิดการพัฒนา
ที่ยั่งยืน
“จากนี้ สกสว. และ หน่วยบริหารจัดการทุนจะนำโจทย์และความต้องการกลับไปพิจารณาคัดเลือกงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และสอดคล้องกับความต้องการนำมาขับเคลื่อนในพื้นที่ชายแดนใต้ ควบคู่กับการหารือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดพื้นที่จึงสามารถที่จะออกแบบแผนของงานวิจัยพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อตอบสนองและตอบโจทย์ของพื้นที่ได้ นำไปสู่การกำหนด Framework และ ทิศทางงานวิจัยที่จะสนับสนุนในอนาคต เพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากการวิจัย ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการเชื่อมต่อการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมบูรณาการทำงาน และขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป”