In News

ครม.อนุมัติการขอรับหนุนงบฯโครงการ บริบาล-สิทธิผู้สูงอายุภาคใต้163.231ลบ.



กรุงเทพฯ-ครม.อนุมัติการขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้) จำนวน 163.231 ล้านบาท

วันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้) วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 163.231 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนให้ได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากรายงาน ของ พม. ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ การเกิดของประชากรไทยมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ จำนวน 13.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด 65.06 ล้านคน พม. ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ (มิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม) รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงและการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับสถานการณ์สังคมสูงอายุในปัจจุบันและอนาคต และเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต สร้างระบบการดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ จึงได้จัดทำ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ขึ้นมา

โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนนั้น กรมกิจการผู้สูงอายุได้เสนอตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้แล้วจำนวน 8.850 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในลักษณะนำร่องใน 12 จังหวัด 19 พื้นที่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่องบประมาณได้ผ่านการอนุมัติ

ทั้งนี้ จากการการลงพื้นที่ควบคู่กับการร่วมการประชุม ครม.สัญจร ทาง พม. จึงเห็นความจำเป็นในการขยายโครงการฯ ไปในภูมิภาคต่างๆ  โดย ก่อนหน้านี้ ในประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดหนองบัวลำภู (9 ธันวาคม 2566) ครม. ได้อนุมัติ วงเงิน 359 ล้านบาท สำหรับ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 20 จังหวัด 322 อำเภอภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว

จากการประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดระนอง (23 มกราคม 2567 พม. ได้รวบรวมข้อมูลและพบว่า ภาคใต้ (14 จังหวัด) มีประชากรสูงอายุ จำนวน 1.62 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.14 ของประชากรภาคใต้ทั้งหมด 9.45 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนธันวาคม 2566) นอกจากนั้น ข้อมูลการคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ภาคใต้มีประชากรสูงอายุ จำนวน 1.07 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่มติดสังคม จำนวน 1.03 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 96.19
กลุ่มติดบ้าน จำนวน 33,493 คน เป็นร้อยละ 3.12
กลุ่มติดเตียง จำนวน 7,404 คน คิดเป็นร้อยละ 0.69

โดยผู้สูงอายุนั้นยังมีแนวโน้มอยู่ลำพังคนเดียวและถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพและหารายได้ โดยมีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง จำนวน 189,190 คน และผู้สูงอายุดูแลกันเอง จำนวน 89,680 คน (ข้อมูลจากกรมการพัฒนาชุมชน ณ เดือนธันวาคม 2565) ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนจำนวนผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

ในการประชุม ครม. วันนี้ (12 มีนาคม 2567) พม. จึงได้เสนอ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนในภาคใต้ ด้วยวงเงิน 163.231 ล้านบาท ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับทบทวน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีแผนพัฒนาเกี่ยวกับการจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาการพึ่งพิงและประชากรวัยเด็กลดลงทำให้มีอัตราวัยแรงงานลดลงแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พ.ศ. 2566-2570) ที่มีแผนพัฒนาเกี่ยวกับการลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิงสูง ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยโครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ สาระสำคัญ
1. วัตถุประสงค์ Ÿ ส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน
Ÿ พัฒนาศักยภาพผู้บริบาล (ผู้ดูแล) คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ
Ÿ สร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ 5 มิติ (มิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม) ในระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและลดภาระค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวของประเทศ
2. พื้นที่ดำเนินโครงการ 14 จังหวัด 151 อำเภอ ในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง นราธิวาส ชุมพร ปัตตานี ยะลา กระบี่ ภูเก็ต พังงา สตูล และระนอง
3. กลุ่มเป้าหมายโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ รวม 1.62 ล้านคน ประกอบด้วย
Ÿ คนในพื้นที่ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ8 พื้นที่ละ 2 คน จำนวน 151 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 302 คน
Ÿ ผู้สูงอายุในชุมชน จำนวน 1.62 ล้านคน
4. ขั้นตอนการดำเนินการ Ÿ รับสมัครและพิจารณาคัดเลือกคนในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ละ 2 คน ให้เป็นผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุเพื่อเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดและปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
Ÿ จัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นสูงหรือหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง (ใช้ระยะเวลาอบรมประมาณ 3 เดือน) จากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับรองอนุญาตใช้หลักสูตรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ.9 ซึ่งสอดคล้องกับกฎกระทรวงกิจการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 รวมถึงมีการจัดอบรมเพิ่มเติมทักษะความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ การดูแลปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทั้ง 5 มิติข้างต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ
Ÿ ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุปฏิบัติงานตามขอบเขตหน้าที่ที่กำหนด โดยการลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนตามระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนด โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ
Ÿ ลงพื้นที่สรุป ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
5. งบประมาณ จำนวน 163.231 ล้านบาท แบ่งเป็น
งบประมาณ จำนวน
Ÿ งบดำเนินงาน เช่น ค่าตอบแทนผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ค่าจัดอบรม ค่าจัดกิจกรรมในพื้นที่ 93.016 ล้านบาท
Ÿ งบลงทุน เช่น รถเข็นชนิดนั่ง เครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิทัลพร้อมที่วัดส่วนสูง กระเป๋าพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ปฐมพยาบาล 70.215 ล้านบาท

 

6. ระยะเวลาดำเนินโครงการ เริ่มดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
7. ประโยชน์ที่ได้รับ Ÿ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
Ÿ มีกลไกระบบชุมชนรอบรับสถานการณ์สังคมสูงวัย
Ÿ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของประเทศ
Ÿ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน