Think In Truth

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ'พักการลงโทษ' ตอนที่3:อำนาจในการพักการลงโทษ



จากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการพักการลงโทษในงานราชทัณฑ์ ตอนที่ 2 กรมราชทัณฑ์ ได้ชี้ให้สังคมได้เห็นถึงสาเหตุที่สำคัญของการพักการลงโทษในบริบทของสังคมไทย ซึ่งทำให้เห็นถึงความเป็นไปของแนวคิดและพัฒนาการในการลงโทษผู้กระทำผิด ในตอนที่ 3 นี้ จะแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจและสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยในสังคมว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับอำนาจในการพักการลงโทษมาจากใครและอย่างไร

กรมราชทัณฑ์ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560มาตรา 52 นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะความก้าวหน้าในการศึกษาและทำการงานเกิดผลดีหรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการพักการลงโทษเป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง โดยเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้นแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าหรือไม่น้อยกว่าสิบปีในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา และกำหนดระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขให้กำหนดเท่ากับโทษที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 จะกำหนดให้คณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ เป็นผู้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ เพื่อให้การวินิจฉัยพักการลงโทษเป็นไปตามหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562โดยเป็นการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการพักการลงโทษ กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพิจารณาการพักการลงโทษกรณีปกติ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก เว้นแต่โทษจำคุกครั้งก่อนนั้นเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการล้างมลทินตามกฎหมายล้างมลทิน ไม่ถือเป็นการต้องโทษจำคุกครั้งแรก รวมถึงกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดได้รับพักการลงโทษตามชั้น ที่สำคัญคือในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุพิเศษที่จะพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดมากกว่าที่กำหนดให้เสนอคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ตามที่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงฯ ข้อ 43

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่าการพิจารณาการพักการลงโทษให้กับนักโทษเด็ดขาด คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ได้มีการนำเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้ มาพิจารณาด้วย

(1) พฤติการณ์แห่งคดีที่ได้กระทำและการกระทำความผิดที่ได้กระทำมาก่อนแล้ว

(2) ระยะเวลาการคุมประพฤติ

(3) ความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของผู้อุปการะในการควบคุมดูแลนักโทษเด็ดขาดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขจนกว่าจะพ้นโทษ

(4) ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม

(5) มีพฤติการณ์ในระหว่างถูกคุมขังจนน่าเชื่อว่าได้กลับตนเป็นคนดี

(6) ผ่านการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัย

ประเด็นสำคัญอีกประการเพื่อสร้างความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้กับสังคมในการปฏิบัติงาน กฎกระทรวงฯ ได้กำหนดให้มีคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษประจำเรือนจำ ประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธาน ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าพนักงานเรือนจำซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้งจำนวนสองคน เป็นคณะทำงาน และให้เจ้าพนักงานเรือนจำคนหนึ่งเป็นเลขานุการ โดยให้คณะทำงานดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบบัญชีรายชื่อนักโทษเด็ดขาดซึ่งสมควรได้รับการพักการลงโทษและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการเรือนจำ จากนั้น ให้ผู้บัญชาการเรือนจำเสนอรายชื่อนักโทษเด็ดขาดซึ่งสมควรได้รับการพักการลงโทษมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการ 

เพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณา สำหรับการพักการลงโทษกรณีปกติ ความเห็นของคณะอนุกรรมการให้เป็นที่สุดส่วนการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ให้เสนอคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติและส่งกลับมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษให้กับเรือนจำหรือทัณฑสถานดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการ ฯ ให้พักการลงโทษ โดยทั้งการพักการลงโทษกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษ ต้องมีเอกสารแจ้งให้ผู้ได้รับการพักการลงโทษไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติต่อไป และยังคงมีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาด หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายก็จะต้องถูกจับกลับเข้าจำคุกต่อไปตามกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่

อำนาจในการพักการลงโทษ จึงเป็นไปตามกฎหมาย กฎกระทรวง และประกาศกรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมความพร้อมของนักโทษก่อนส่งกลับคืนสู่สังคมต่อไป