Travel Sport & Soft Power

งานทำบุญผะเหวดร้อยเอ็ดปี2567เริ่มแล้ว ผู้ว่าฯบวงสรวง-จัดประกวดธงผะเหวด



ร้อยเอ็ด-บวงสรวงและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด ปี 2567และจัดให้มีการประกวดธงผะเหวด เพื่อส่งเสริมการจัดงานประเพณีบุญผะเหวด ปี 2567

วันที่ 15 มีนาคม 2567 เวลา 07.09 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในการจัดงาน มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด ประจำปี 2567 โดยมี นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และนายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้าร่วม ณ ลานหน้าพระพุทโธดม เกาะกลางบึงพลาญชัย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยพิธีบวงสรวงและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ หน้าลานพระพุทโธดม ซึ่งพระพุทโธดม เป็นพระพุทธรูปยืน ที่พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือเป็นอย่างมาก การจัดพิธีบวงสรวงในครั้งนี้ เพื่อขอความเป็นสิริมงคล ให้การดำเนินงานราบรื่น ในการจัดงานมหาทานบารมีประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 15 ถึง 17 มีนาคม 2567

ทั้งนี้ได้มีพิธีพราหมณ์ บูชาฤกษ์ถวายเครื่องบวงสรวง จากนั้นประธานในพิธี หัวหน้าส่วนราชการ ปักธูปที่เครื่องสังเวยและกระทงต่างๆ รวมถึงรับชมการแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด และแจกจ่ายเครื่องสังเวย เป็นอันเสร็จพิธี 

ร้อยเอ็ด ประกวดธงผะเหวด เพื่อส่งเสริมการจัดงานประเพณีบุญผะเหวด ปี 2567

ที่ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด บึงพลาญชัย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด นายทรงพล เป็นประธานเปิดการประกวดธงผะเหวด ในงานมหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด ประจำปี 2567 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด, นายยุทธนา บุศเนตร วัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด, ดร.สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการตัดสิน เข้าร่วม ตลอดจนมีพี่น้องประชาชนร่วมชมความสวยงามของธงผะเหวด อย่างคับคั่ง

โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ 1.ธงผะเหวดประเภทคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม เน้นใช้วัสดุธรรมชาติ และใช้เทคนิคการทอมือวิธีแบบเก็บขิด ลวดลายจะแสดงถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และ 2.ธงผะเหวดประเภทประยุกต์ จะต้องเป็นธงผะเหวดที่ทอใหม่ วัสดุที่ใช้ประกอบด้วย ลูกปัด หรือวัสดุตามความเหมาะสม ส่วนลวดลายเน้นเสริมสร้างการประชาสัมพันธ์งานบุญผะเหวดและการท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด 

ทั้งนี้ผลการประกวดธงผะเหวด ปี 2567 รางวัลชนะเลิศประเภทคงเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม ได้แก่ อันดับ 1 นายสุริยะ คำนนท์ อำเภอพนมไพร , อันดับ 2 สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด, อันดับ 3 นายคำภู สุดาเดช อำเภอพนมไพร ในส่วนประเภทประยุกต์รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสิริมนต์ พรมวงศ์ อำเภอพนมไพร อันดับ 2 เทศบาลตำบลพนมไพรร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอพนมไพร และอันดับ 3 นางนวลจันทร์ ดาแก้ว อำเภอจังหาร