Travel Sport & Soft Power

เปิดLandscapeวงการภาพยนตร์ซีรีส์ไทย 'Content Lab 2024 Open House'



กรุงเทพฯ-อุตสาหกรรมคอนเทนต์ โดยเฉพาะสาขาภาพยนตร์และซีรีส์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐบาลเล็งเห็นศักยภาพการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในฐานะสินค้าบริโภคและสินค้าส่งออก โดยมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทย ขณะเดียวกันภาพยนตร์และซีรีส์ยังเป็นเสมือนเครื่องสะท้อนวัฒนธรรมและดีเอ็นเอของชาติ ทั้งยังสามารถสร้างแรงจูงใจทางสังคมได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์อย่างครบวงจร จะช่วยยกระดับศักยภาพภาพยนตร์และซีรีส์ไทย ก่อร่างเป็นภาพฝันที่ไม่ไกลเกินจริงให้ คอนเทนต์ไทยมุ่งหน้าสู่การเป็น คอนเทนต์โลกและนำพาเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกมหาศาล

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Content & Media จึงได้จัดทำโครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการจัดทำโครงการ โดยจัดได้เปิดโครงการ (Content Lab 2024 Open House) พร้อมจัดกิจกรรมเสวนา 4 เซสชั่นจากผู้เชี่ยวชาญของวงการภาพยนตร์และซีรีส์ไทย ไปเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ

Content Lab ปล่อยแสงคอนเทนต์ไทยส่งออกตลาดสากล

คุณอินทพันธ์ุ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน Content Lab 2024 Open House ด้วยการกล่าวถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ ซึ่งเกิดจากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ผลิตและบุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ทำให้เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมควรจะมีแล็บ (Lab) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสนับสนุนให้บุคลากรในอุตสาหกรรมสามารถสร้างคอนเทนต์หรือยกระดับคอนเทนต์ไทย เพื่อเป็นการขยายตลาดและผลักดันให้สามารถออกไปแข่งขันในระดับสากลได้ โดยโครงการจะช่วยยกระดับทักษะของบุคลากรในระดับ Mid-Career ให้มีการฝึกอบรมแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดเวิร์กช็อป การให้คำปรึกษา และการให้ทุนผลิต Video Pilot สำหรับการทำ Business Matching กับบริษัทคอนเทนต์ชั้นนำในประเทศไทยและต่างประเทศ

นอกจากนี้ CEA ยังคงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์เพิ่มอีก 3 โครงการในปีนี้ ได้แก่ โครงการ Content Lab: Newcomers - ค่ายอบรมระยะสั้น สำหรับกลุ่มนักสร้างสรรค์รายใหม่ ใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง โครงการ Content Lab: Animation สำหรับกลุ่มแอนิเมชันในการพัฒนาโปรเจ็กต์และเชื่อมต่อตลาดสากล และ โครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting อบรมการเขียนบทระดับสูงโดยวิทยากรจากต่างประเทศ และ Master Class ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์

โครงการ Content Lab 2024 สำหรับกลุ่ม Mid-Career ที่จัดโดย CEA จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ให้สามารถผลิตคอนเทนต์ใหม่ที่โดนใจผู้ชมและขายในตลาดสากลได้มากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เติบโตได้มากขึ้น และหวังว่าโครงการนี้จะสามารถผลักดันให้คอนเทนต์ไทยสามารถติดอันดับ 1 ใน 3 ของ Global Chart ในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง" คุณอินทพันธ์ุกล่าว

สำหรับเสวนาเปิดตัวโครงการ Content Lab 2024 มีทั้งหมด 4 เซสชั่น ที่ชวนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทยมาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองแบบอัดแน่น จาก 14 วิทยากรตัวจริงในแวดวงคอนเทนต์ไทย และเตรียมความพร้อมทักษะที่จำเป็นสู่การยกระดับพลังการปั้นโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ ให้สร้างสรรค์ น่าสนใจ มีเนื้อหาคุณภาพสูง และตอบโจทย์ตลาดสากลได้มากขึ้น ประกอบด้วย

Session 1: Everything you need to know about Content Lab 2024! ทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024

คุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้จัดทำหลักสูตรและผู้ดำเนินโครงการ กล่าวว่าปีนี้โครงการ Content Lab 2024 เหมาะกับคนทำงานในระดับ Mid-Career ทั้งในสายภาพยนตร์และซีรีส์ โดยผู้สมัครจะต้องสมัครเข้ามาเป็นทีมพัฒนาโปรเจ็กต์ (Creative Team) โดยมีอย่างน้อย 1 คนในทีมที่มีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี และเน้นโปรเจ็กต์ที่จะสามารถพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์ (Mass Product) มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายได้นำเสนอโปรเจ็กต์ (Pitching) และมีการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับ Streaming Platform และผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศในช่วงเดือนกันยายน 2567

สำหรับไฮไลต์ของหลักสูตรปีนี้ มุ่งเน้นการ Lecture ผ่าน Case Study จากผู้มีประสบการณ์การทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จโดยตรง รวมถึงการเรียนรู้ทักษะที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องรู้สำหรับการพัฒนาโปรเจ็กต์ เช่น วิชา Project Development for Producers, Sales and Distribution และ How to Pitch ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้พัฒนาโปรเจ็กต์ผ่านการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในช่วง 1 on 1 Mentor Session และพัฒนาบทของตัวเองต่อในช่วง Writer’s Room จนออกมาเป็น Pitch Deck ที่พร้อมสำหรับการขายโปรเจ็กต์ต่อไป

ไอเดียของหลักสูตรในปีนี้ คือการมองว่าทำยังไงให้ Creative Team สามารถผลักดันโปรเจ็กต์ของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด และทำให้โปรเจ็กต์แข็งแรงสำหรับการทำ Business Matching เหมือนกับที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ในระดับสากลปฏิบัติจริง คุณพิมพกา โตวิระ ผู้ดำเนินโครงการ Content Lab 2024 กล่าวเพิ่มเติม

Session 2: Where do the great ideas come from? ไอเดียที่ดีมาจากไหน?

ในหัวข้อเสวนา “Where do great ideas come from ไอเดียที่ดีมาจากไหน?” วิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งสตูดิโอคำม่วน, คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ธี่หยด, คุณอมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบทซีรีส์ Analog Squad และคุณสุรศักดิ์ ป้องศร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ สัปเหร่อ ได้ให้แง่คิดว่าไอเดียที่ดีนั้นจะต้องมาจากเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจ ทำให้เห็นภาพ สร้างจินตนาการ และอยากจะนำไปสื่อสารให้คนอื่นสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์นั้นได้ นอกจากนี้การเป็นคนเล่าเรื่องเป็นอาชีพที่ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จได้เสมอไป ทั้งยังเป็นงานที่ต้องรับฟังความเห็นจากผู้คนที่หลากหลายได้ด้วย ในขณะที่การนำเทรนด์ที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมมาพัฒนาเป็นไอเดียก็เป็นสิ่งที่ควรพึงระวัง เพราะเทรนด์มาไวไปไว แต่กระบวนการทำงานของภาพยนตร์หรือซีรีส์แต่ละเรื่องกว่าจะเสร็จอย่างน้อยใช้เวลาเป็นปี และอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของหนังหรือเรื่องเล่าคือความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้การจะนำไอเดียที่มีอยู่แล้วในสื่ออื่น เช่น หนังสือ เว็บกระทู้ หรือการ์ตูน มาพัฒนาต่อให้น่าสนใจ ต้องหาประเด็นที่คนอื่นยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมานำเสนอใหม่ให้คนสนใจให้ได้ และสิ่งที่ต้องเสริมเพิ่มคือเรื่องที่มาที่ไปของตัวละครในเรื่อง ดังประโยคที่ว่า‘Content is King but Context is God.’ บริบททางสังคมจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการนำเสนอด้วยเช่นกัน

ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่เล่าจะประสบความสำเร็จ แต่มนุษย์ยังต้องการเรื่องเล่าอยู่เสมอ เป็นหนึ่งในงานที่ไม่ได้มีคุณค่าน้อยไปกว่าหมอ เพราะเรื่องเล่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ด้วยความเชื่อบางอย่าง เราสร้างเรื่องเล่าไม่ได้เพื่อมอมเมาสังคม แต่เพื่อให้สังคมสามารถเดินต่อไปได้ คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กล่าวปิดท้ายการเสวนา

Session 3: Is Thai cinema making a comeback? เทรนด์ภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนตร์กำลังกลับมา?

เสวนาหัวข้อนี้เปิดประเด็นด้วยคำถามว่าภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และแนวโน้มความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยมีคุณนคร โพธิ์ไพโรจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภาพยนตร์ เนรมิตรหนัง, คุณเอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Brandthink, คุณพิทยา สิทธิอำนวย ผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม และคุณบรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ GDH559 ร่วมเสวนา ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในช่วงหลังโควิด-19 นั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมของคนดูเปลี่ยนไป และมีผู้เล่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอย่าง Streaming Platform

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังคงต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมบันเทิงอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ คอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์อย่าง YouTube ก็ตาม โดยปัจจุบันกลุ่มคนดูในช่วงวัยรุ่น ไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการออกมาชมภาพยนตร์มากนัก กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นจึงหายไป และความเปลี่ยนแปลงอีกข้อคือตลาดของต่างจังหวัดได้กลายมาเป็นฐานรายได้สำคัญให้กับภาพยนตร์ไทยสูงมากกว่าในกรุงเทพฯ

ประเด็นสุดท้ายในการเสวนาคือบทบาทของ Streaming Platform ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ส่งผล     อย่างมากต่ออุตสาหกรรมในช่วงหลัง โดยสามารถเข้ามาเป็นช่องทางรายได้ที่ 2 ให้แก่สตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์ได้ จากที่สมัยก่อนอาจจะเป็น VCD/ DVD ส่งผลให้สตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์สามารถสร้างภาพยนตร์โดยที่ยังคืนทุนหรือได้กำไรได้ ทำให้สตูดิโอมีแผนรองรับในกรณีที่ภาพยนตร์ไม่สามารถทำกำไรจากการเข้าโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ Streaming Platform ยังสามารถพาภาพยนตร์ไปหาผู้ชมในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงภาพยนตร์และ Streaming Platform นั้นก็เป็น Partner กัน การเข้ามาของ Streaming Platform จึงมีทั้งผลดีและผลเสียที่เรายังคงต้องพิจารณากันต่อไปในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นยังคงความเป็นศาสตร์และศิลป์ พร้อมกับสร้างความยั่งยืนต่อไปได้

Session 4: Can Thai series appeal to the world? ซีรีส์ไทยสู่เวทีระดับโลก เป็นไปได้ไหม?

เสวนาหัวข้อสุดท้ายได้พูดคุยเรื่องแนวทางการพัฒนาซีรีส์ไทยให้หลากหลายและมีคุณภาพในระดับสากล โดยคุณนพณัช ชัยวิมล ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production GMMTV, คุณผ่านศึก ธงรบ ผู้อำนวยการอ้ายฉีอี้ ประจำประเทศไทย, ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ และคุณยศสินี ณ นคร Founder & Showrunner Maker-Y

คุณผ่านศึก ธงรบ ผู้อำนวยการ iQIYI ประจำประเทศไทย และคุณนพณัช ชัยวิมล ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production GMMTV ให้มุมมองคล้ายกันว่าคอนเทนต์ไทยสามารถเติบโตได้มากกว่าตลาดในประเทศ แต่จะต้องประสบความสำเร็จในประเทศก่อน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับการผลักดันคอนเทนต์ไทยสู่สากล โดยเฉพาะซีรีส์วาย ปัจจุบันคอนเทนต์จากประเทศไทยถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับการบุกตลาดทั่ว

โลก โดยเฉพาะอเมริกาเหนือที่เป็นตลาดที่น่าสนใจในปัจจุบัน ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตซีรีส์วายของ GMMTV ถือเป็นครึ่งหนึ่งของซีรีส์ที่ผลิตก็ว่าได้ นี่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนดูในต่างประเทศก็พร้อมที่จะเปิดรับ และสามารถเชื่อมโยงคอนเทนต์จากประเทศไทยกับประเทศของเขาได้เช่นกัน

ด้าน ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ให้ความเห็นว่าคอนเทนต์ไทยมี 2 รูปแบบ คือคอนเทนต์ที่มีความเป็น Local สูงเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนดูในประเทศ และคอนเทนต์ที่มีความสามารถ Travel ในตลาดโลก คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้สามารถยกระดับคนดูให้มาอยู่ในระดับสากลได้มากขึ้น สามารถหา New Thai ที่ทำให้คอนเทนต์ไทยมีมุมมองการเล่าแบบใหม่โดนใจตลาดต่างประเทศ

ประเด็นสุดท้ายในการเสวนาคือการผลักดันจากภาครัฐ อย่างนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนผลักดันเองมาโดยตลอด จึงเห็นถึงความสำคัญของนโยบายจากภาครัฐที่จะช่วยเข้ามาสนับสนุนให้ซีรีส์ไทยได้รับการผลักดันให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันและดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติ ได้แก่ 1. ภาครัฐจะต้องจัดการเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เพื่อพยุงอุตสาหกรรมในช่วงการเปลี่ยนผ่าน 2. ต้องดึงผู้ลงทุนใหม่จากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้หันมาสนับสนุนอุตสาห กรรมคอนเทนต์ของไทยมากยิ่งขึ้นผ่านนโยบายของรัฐ 3. ต้องสนับสนุนให้ผู้สร้างสามารถเข้าถึงการผลิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งในแง่ของคุณภาพงาน มาตรฐานความปลอดภัยในกองถ่าย และการสร้างบุคลากรใหม่ที่มีคุณภาพ และ 4. การเตรียมความพร้อมให้ผู้ชมสามารถเปิดรับกับคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยการทำให้เข้าถึงการรับชมที่ง่ายขึ้น

ทั้งนี้กิจกรรมเปิดตัวโครงการพร้อมเสวนา Content Lab 2024 Open House และเสวนา จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โครงการ Content Lab 2024 โปรแกรมเขียนบทและพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ เพื่อฝึกฝนทักษะของบุคลากรกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ ระหว่างเดือนมีนาคม - กันยายน 2567 โดยทีมที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย จะได้รับโอกาสนำเสนอโปรเจ็กต์กับ Platform ชั้นนำต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดโปรเจ็กต์ต่อไปในอนาคต