In News
กทม.ถกปัญหาอุบัติเหตุโค้งหน้าศาลรัชดาตั้งศปถ.เขตแก้2ส่วนแสงไฟ-ปรับโค้งใหม่
ศปถ.กทม.หารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณโค้งศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เร่งดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน อาทิ ปรับปรุงแสงสว่าง การติดตั้งป้ายเตือนทางโค้ง เส้นชะลอความเร็ว ปรับปรุงผิวจราจรลดการลื่นไถล 2.ระยะกลาง การปรับ Alignment ให้เป็นโค้งผสม (Compound Curve) โดยปรับเกาะกลาง (ปาดแนวเกาะกลาง) พร้อมตีเส้นแบ่งจราจรใหม่
(12 ต.ค. 63) เวลา 13.30 น. นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ครั้งที่ 3/2563 โดยมี ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
กรุงเทพมหานครได้ตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) โดยมีหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต เป็นต้น และหน่วยงานภายนอก อาทิ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น เป็นคณะกรรมการ ศปถ.กทม. เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกัน แก้ไข และลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต.) เพื่อผนึกกลไลการลดอุบัติเหตุในเชิงรุก และเข้าถึงระดับชุมชนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รายงานถึงความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ อาทิ รายงานการวิจัยการประเมินมาตรการ 7 วันอันตราย และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการขับขี่บนถนนที่ปลอดภัย ซึ่งได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ด้าน ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การปรามไม่ให้กระทำผิดซ้ำ การสร้างการรับรู้ความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างการรับรู้ความเสี่ยงและอันตรายจากอุบัติเหตุ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของรัฐและภาคีเครือข่าย และการกำหนดกลไกโครงสร้าง ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะสามารถนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้จากรายงานผลการตรวจสอบและวิเคราะห์กรณีอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 ระหว่างวันที่ 10 - 16 เม.ย. 63 เกิดอุบัติเหตุ 9 ครั้ง เสียชีวิต 9 ราย โดยมีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ 7 ราย รถยนต์ 1 ราย และคนเดินเท้า 1 ราย สามารถสรุปปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุได้ 2 ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ได้แก่ เกิดจากความประมาทและขับขี่ด้วยความเร็วสูง การขับขี่ตัดหน้ากระชั้นชิด ผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีอายุมาก การฝ่าฝืนกฎจราจร และด้านกายภาพของถนน เช่น ปัญหาการมองเห็นป้ายจราจร ปัญหาระบบแสงสว่าง ถนนลื่นเนื่องจากฝนตก ปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนเดินเท้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รายงานผลการสืบสวนอุบัติเหตุถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศาลอาญา เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักการโยธา ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน สถาบันป้องกันโรคเขตเมือง และ THAILAND BIG MOVE ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนบริเวณดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 เวลา 21.00 - 24.00 น. สามารถแบ่งสาเหตุเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ และด้านพฤติกรรม โดยด้านกายภาพ เป็นถนน 8 ช่องจราจร ทางเท้ากว้าง 3 - 5 เมตร เกาะกลางกว้าง 4.2 เมตร มีแนวถนนเป็นเส้นทางตรง สลับโค้งที่มีรัศมีความโค้งแตกต่างกัน ทำให้ต้องหักพวงมาลัยเร็วเมื่อออกโค้งแรก เข้าทางตรง แล้วต้องหักพวงมาลัยอีกครั้งเพื่อเข้าโค้งถัดไป และด้านพฤติกรรม เกิดจากขับขี่เกินความเร็วที่กำหนด เมาแล้วขับ เป็นต้น
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมุ่งลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ อัตราการบาดเจ็บ และอัตราการเสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ ศปถ.กทม. และ ศปถ.เขต. ขึ้น โดยประเด็นในการประชุมแต่ละครั้งจะเกี่ยวกับเรื่องปัญหาที่เกิดในปัจจุบัน นำมาวิเคราะห์สืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พัฒนาบุคลากรด้านการสืบสวนและวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ วิเคราะห์แนวทางการดำเนินการแก้ไข นำไปสู่การแก้ไขในเชิงปฏิบัติ ซึ่งในวันนี้มีประเด็นซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วที่สุด คือบริเวณโค้งศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหลายครั้ง และมีผู้เสียชีวิตมาโดยตลอด
จากการลงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย ได้วิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุออกเป็นด้านพฤติกรรม และด้านกายภาพของถนน โดยได้มอบหมายให้เลขานุการคณะกรรมการ ศปถ.กทม. เร่งดำเนินการจัดลำดับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน อาทิ ปรับปรุงแสงสว่าง ตัดต้นไม้ที่บดบังทัศนวิสัยหรือแสงไฟ การติดตั้งป้ายเตือนทางโค้ง ป้ายชะลอความเร็ว ป้ายจำกัดความเร็ว เส้นชะลอความเร็ว ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการชนกับวัตถุอันตรายข้างทาง (Shield) เช่น การ์ดเรล (Guardrail) หรือกำแพงคอนกรีต (Concrete Barrier) หรือการติดตั้งอุปกรณ์ลดความรุนแรง (Impact Attenuator) ปรับปรุงผิวจราจรลดการลื่นไถล 2.ระยะกลาง อาทิ การปรับ Alignment ให้เป็นโค้งผสม (Compound Curve) โดยปรับเกาะกลาง (ปาดแนวเกาะกลาง) พร้อมตีเส้นแบ่งจราจรใหม่ ให้โค้งรับแนวปรับใหม่ที่มีรัศมีเดียวกัน หรือการยกโค้งถนน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงระบบการระบายน้ำด้วย
และจะนำเสนอต่อนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อลงพื้นที่ในช่วงประมาณสัปดาห์หน้า และเร่งดำเนินการแก้ปัญหาด้านกายภาพในบางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้จะหาแนวทางในการปรับปรุงกายภาพเพื่อให้เกิดการตระหนักในเชิงพฤติกรรม โดยอาจจะใช้ไฟกระพริบ แสงสว่าง หรือระบบเสียงเตือนต่าง ๆ ให้เกิดการชะลอความเร็ว หรือมีสติในการขับขี่มากขึ้น ตลอดจนหาแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตได้อย่างยั่งยืน