In Thailand
'มะม่วงแปดริ้ว'ทำเงินสะพัดปีละกว่า10ล. เตรียมจัดงานใหญ่10วัน29มี.ค.-7เม.ย.นี้
ฉะเชิงเทรา-มะม่วงแปดริ้ว ทำเงินสะพัดเข้าสู่ จ.ฉะเชิงเทรา ช่วงก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ปีละกว่า 10 ล้านบาท พร้อมเตรียมจัดงานขายสินค้าและผลผลิตตามฤดูกาลต่อเนื่องเป็นปีที่ 53 ขณะผู้ผลิตยันผู้มาเยือนในงานตลอด 10 วัน จะได้สินค้าในราคาถูกกว่าที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ขณะมูลค่าการส่งออกต่างประเทศยังทรงตัวที่ 400 กว่าล้านบาทต่อปี
วันที่ 20 มี.ค.67 เวลา 14.00 น. ที่บริเวณลานกิจกรรมด้านหน้าโรงภาพยนตร์ SF CINEMA ชั้น 2 ภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ฉะเชิงเทรา นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับ นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตร จ.ฉะเชิงเทรา นายมานพ แก้ววงษ์นุกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา นายกระจ่าง จำศักดิ์ ประธานสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา จำกัด และนางบุญมี ศรีสุข นายกสมาคมธุรกิจการอาหาร จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันแถลงข่าว
การจัดงาน “วันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว” ครั้งที่ 53 ประจำปี 2567 ซึ่งจะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มี.ค.67 – 7 เม.ย.67 ภายในโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายชลธี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงได้ขายสินค้าโดยตรงต่อผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะม่วงใน จ.ฉะเชิงเทรา ให้สามารถจําหน่ายผลผลิตที่ออกมามากตามฤดูกาลได้
ขณะเดียวกันยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตมะม่วงของชาวสวน จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีรสชาติดีเยี่ยมคุณภาพส่งออกและมีชื่อเสียงระดับประเทศ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยในปีที่ผ่านมาการจัดงานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดรายได้เข้าสู่ จ.ฉะเชิงเทรา คิดเป็นมูลค่ามากถึง 10.7 ล้านบาท ขณะเดียวกันในปีนี้ ยังได้มีการประสานงานกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้จัดรถไฟขบวน KIHA 183 เดินทางจากกรุงเทพมายัง จ.ฉะเชิงเทรา ในวันที่ 30 – 31 มี.ค.67
เพื่อพานักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในงานแบบ One Day Trip หรือการเดินทางไปกลับในวันเดียวกัน ด้วยการพามาชิมข้าวเหนียวมูลมะม่วง โดยกิจกรรมนี้ถือเป็นการโปรโมทเส้นทางการท่องเที่ยวของ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เกษตรกรอยู่ได้ ผู้ซื้อถูกใจ ผู้ขายมีรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใน จ.ฉะเชิงเทรา นายชลธี กล่าว
และกล่าวต่อว่า การจัดงานในปีนี้จะจัดภายใต้คอนเซ็ปต์ “Smart Market No Alcohol No Foam” เน้นการใช้จ่าย ซื้อง่าย ขายคล่อง ที่มีการอำนวยความสะดวกในการรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้เงินดิจิทัลในร้านค้าทุกร้าน ทั้งยังงดการจำหน่ายสุราและห้ามดื่ม และงดการใช้ภาชนะโฟมมาใส่อาหาร ที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในงาน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยจะมีกิจกรรมการให้ความรู้ในด้านเกษตร การประกวดผลผลิตสุดยอดมะม่วงดิบและมะม่วงสุก มะพร้าวน้ำหอม ขนุนเนื้อสีเหลือง สับปะรดปัตตาเวีย รวมทั้งหน่อไม้ ไข่ไก่คุณภาพสูง และปลากัดนักสู้สายพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงของจังหวัด โดยผลผลิตมะม่วงที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในงานเป็นสินค้ามาตรฐานส่งออก ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เกษตรปลอดภัย รวมถึงยังมีสินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปของดีเมืองแปดริ้ว ตลอดจนพันธุ์ไม้ต่างๆ อย่างหลากหลายชนิด
นักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสกับจุด Check in จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้จัดทำขึ้นมาให้สอดคล้องกับการเป็นเมือง Smart City ของ จ.ฉะเชิงเทรา ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและรับของรางวัลจากการร่วมสนุกภายในงาน กิจกรรมการลด แลก แจก แถม และนาทีทองซื้อมะม่วงในราคาถูก ที่จะมีการจัดขึ้นภายในงานทุกวัน จึงขอเชิญชวนให้มาท่องเที่ยว ชิม ช้อป แชร์ ในงานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้วในครั้งนี้ ระหว่างเวลา 09.00 - 21.00 น.ตลอด 10 วัน
ขณะที่นายดนัย ได้กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกมะม่วงของ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการส่งออกผลผลิตมะม่วงในปริมาณ 1 ใน 3 ของการผลิตไปยัง 5 ประเทศหลัก ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี โดยที่เกษตรกรชาวสวนมีกำลังการผลิตมะม่วงกว่า 19,000 ตันต่อปีบนเนื้อที่กว่า 21,000 ไร่
ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การดูแลทางวิชาการและมาตรฐานสินค้า ด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือระบบการจัดการมาตรฐานการผลิต GAP ที่เราต้องมีต่างประเทศจึงจะรับซื้อสินค้าของเรา โดยอีกส่วนหนึ่งนั้นได้มีการพัฒนา GI อย่างต่อเนื่องที่จะเกิดประโยชน์ให้เป็นสินค้าเชิงอัตลักษณ์ หรือมีสัญลักษณ์เฉพาะของมะม่วงแปดริ้ว นายดนัย กล่าว
ส่วนด้านนายมานพ กล่าวว่า ปีนี้มะม่วงมีผลผลิตค่อนข้างมาก โดยเริ่มมีผลผลิตออกมาตั้งแต่ในช่วงเดือน พ.ย.66 และคาดว่าจะไปหมดลงในช่วงเดือน พ.ค.67 จึงทำให้เกษตรกรมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน และเชื่อว่าในช่วงระหว่างการจัดงานจะมีมะม่วงเข้ามาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ในราคาที่ไม่แพง ผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์ ที่จะได้รับประทานมะม่วงที่ดีที่สุดในประเทศไทย และปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในราคาที่น่าพึงพอใจ นายมานพ กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา