In News
เผย3แบงก์รัฐฯนำขบวนลดดอกเบี้ยแล้ว ช่วยผ่อนภาระและแก้ปัญหาหนี้ประชาชน
กรุงเทพฯ-รัฐบาลให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนและผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบตามที่นายกฯ และ รมว.คลัง กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ออกมาตรการบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกทุกขนาดธุรกิจและทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้ รวมถึงดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้านธอส. ร่วมแถลงข่าวโครงการ “แบงก์รัฐลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน” นำโดย โครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2567 กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ ปี 2567 กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราชะลอตัวซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2567 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่โดยรวมเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ นอกจากนี้ สถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กระทบการส่งออก และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม
ดังนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนและผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ และในครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวกันของแบงก์รัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยดำเนินการลดหรือตรึงดอกเบี้ย พร้อมทั้งจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ลงร้อยละ 0.15 ต่อปี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส. สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ นอกจากนี้ แบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มลูกหนี้ SMEs รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญานไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ”
EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ออกมาตรการบรรเทาภาระดอกเบี้ย
นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และผู้บริหารหน่วยงานและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ร่วมแถลงข่าว “แบงก์รัฐลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน” ณ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องและลดภาระต้นทุนทางการเงินให้ผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจและทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการ
• สินเชื่อเอ็กซิมเริ่มต้นส่งออก (EXIM First Step Export Financing) เงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.75% ต่อปี (Prime Rate -1.00% ต่อปี) สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม (Size S) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท พิเศษ ลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีในปีแรก กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK
• สินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก (EXIM Export Ready Credit) เงินลงทุนระยะยาวเพื่อหมุนเวียนในกิจการและเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาดและทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.75% ต่อปี (Prime Rate -2.00% ต่อปี) วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีในปีแรก
2. ผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับตัวสู่สังคมดิจิทัล และธุรกิจสีเขียว
• สินเชื่อ EXIM Green Start เงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในทุกขนาดธุรกิจและทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.50% ต่อปี (Prime Rate -2.25% ต่อปี) วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท พิเศษ ลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีในปีแรก กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK
• สินเชื่อเอ็กซิมยกระดับมาตรฐานยางพาราไทย (EXIM Better Rubber Export Financing) เงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางและเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพารา อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.25% ต่อปี (Prime Rate -2.50% ต่อปี) วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่มีมาตรฐาน เครื่องหมาย หรือการตรวจสอบแหล่งกำเนิด (Traceability) ตามที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำหนด จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 0.75% ต่อปีตลอดระยะเวลาโครงการ
• สินเชื่อ EXIM Extra Transformation เงินลงทุนระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ต่อเติม ปรับปรุง หรือก่อสร้างอาคารโรงงาน ซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.25% ต่อปี (Prime Rate -1.50% ต่อปี) ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 0.50% ต่อปีในปีแรก
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องแก่กลุ่ม SMEs ที่เป็น NPLs จากช่วงโควิด-19 (ตามนโยบายรัฐ)
ต่อที่ 1 กรณีชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี เป็นเวลา 3 เดือน หรือกรณีเลือกชำระเพียงเงินต้น พักชำระดอกเบี้ยได้ เป็นเวลา 3 เดือน
ต่อที่ 2 กรณีสามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขได้เป็นปกติ 3 งวดติดต่อกัน พักชำระหนี้เงินต้น พร้อมปรับลดดอกเบี้ยลง 1.00% ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี
EXIM BANK พร้อมเคียงข้างและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 Email : contactcenter@exim.go.th
ธอส. ร่วมแถลงข่าวโครงการ “แบงก์รัฐลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน”
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” โดยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ได้สนับสนุนให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4.4 ล้านครอบครัว รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และช่วยประคองภาระหนี้สินภาคประชาชน ธอส. จึงได้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า นำโดย
1. โครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2567 กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่มีการผ่อนชำระเงินงวดมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่มีหนี้ค้างชำระ ขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย โดยจะได้รับอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี (4.90% ต่อปี) ปีที่ 3 เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี (5.90% ต่อปี) เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 5.23% (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ในปัจจุบัน เท่ากับ 6.90% ต่อปี) และ ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีซื้ออุปกรณ์ฯ/ ชำระหนี้ เท่ากับ MRR ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567 มีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อดังกล่าวรวม 241 บัญชี คิดเป็นวงเงินยื่นขอสินเชื่อ 213 ล้านบาท ทำนิติกรรมแล้ว 13 บัญชี คิดเป็นวงเงินนิติกรรม 6.2 ล้านบาท
2. โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ ปี 2567 กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน/เจ้าหน้าที่ของรัฐ และลูกจ้างประจำ กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ไถ่ถอนจากสถาบันการเงินอื่น (รีไฟแนนซ์) ชำระหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 2.90% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 3.75% ต่อปี ปีที่ 3 เท่ากับ 3.90% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 3.52% ปีที่ 4-6 เท่ากับ MRR-2.75% ต่อปี (4.15% ต่อปี) ปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี กรณีซื้ออุปกรณ์ฯ/ชำระหนี้ เท่ากับ MRR โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567 มีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อรวม 215 บัญชี คิดเป็นวงเงินยื่นขอสินเชื่อ 195 ล้านบาท ทำนิติกรรมแล้ว 89 บัญชี คิดเป็นวงเงินนิติกรรม 82.7 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร.0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th