In News

รัฐฯลุยรับมือภัยแล้งเน้นบริหารจัดการน้ำ ดีเดย์เดินหน้ารับ'วันน้ำโลก'22มีนาคมนี้



กรุงเทพฯ-“รัดเกล้า” เผย รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งพร้อมให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ เตรียมจัดงานวันน้ำโลก 22 มีนาคม ย้ำการอนุรักษ์น้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ

วันนี้  22 มีนาคม 2567 นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดงานเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่ง​ วันที่ 22 มีนาคม​ ของทุกปี ที่กำหนดให้เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อย้ำให้เห็นความสำคัญของน้ำ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ งานในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อหรือ Theme การจัดงานไว้คือ “Leveraging Water for Peace” หรือ “น้ำเพื่อสันติภาพ” 

ขณะที่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมพัฒนาที่ดิน  ได้เตรียมดำเนินการรับมือภัยแล้ง  ไว้แล้ว ด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการดินและน้ำบนดินและใต้ดิน เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นการชะลอความเร็วของน้ำ การกักเก็บตะกอน การป้องกันการสูญเสียหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน รวมทั้งเป็นการกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาให้ไหลซึมลงใต้ดินอย่างช้าๆ ทำให้เกิดความชื้นที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งช่วยไม่ให้น้ำไหลบ่าไปกัดเซาะดินในพื้นที่ตอนล่างจนก่อให้เกิดความเสียหาย และยังเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร

สำหรับ ในปี​งบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 นี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมชลประทาน ที่ดูแลเรื่องน้ำให้กับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งสิ้น 653 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาตรน้ำเก็บกัก จำนวนทั้งสิ้น 294.390 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น จำนวน 384,764 ไร่ ประกอบด้วย 1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 352 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาตรน้ำเก็บกัก จำนวน 183.580 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น จำนวน 214,927 ไร่ และ 2) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีแผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 301 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาตรน้ำเก็บกัก จำนวน 110.810 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น จำนวน 169,837 ไร่