In Thailand

แหล่งน้ำแปดริ้วเริ่มขอดแห้งเข้าขั้นวิกฤต เอกชนเสนอสูบเก็บช่วงฤดูน้ำหลาก



ฉะเชิงเทรา-แหล่งน้ำแปดริ้วขอดแห้งลงใกล้จุดต่ำสุดเกือบทุกแห่งแล้ว เหลือปริมาณน้ำแค่เพียงร้อยละ 10-20 ของความจุเท่านั้น ท่ามกลางฤดูแห้งแล้งในช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่กำลังจะมาถึง ขณะภาคเอกชนแนะหน่วยงานรัฐเดินหน้าโครงการสูบน้ำกลับนำขึ้นไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำหลักช่วงฤดูน้ำหลาก เหตุฝนตกไม่ตรงจุดที่ต้องการ ด้านชลประทานแจงมีโครงการผันน้ำมาจากพื้นที่ฝนตกชุกน้ำท่วมหนักทุกปีจากจังหวัดข้างเคียงมาก่อนหน้าแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ เหตุมีป่าอนุรักษ์ขวางกั้นเส้นทางวางท่อส่งน้ำ

วันที่ 22 มี.ค.67 เวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานการณ์ล่าสุดจากสำนักงานชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ในวันนี้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก คือ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เพียง 54.97 ล้าน ลบม. จากความจุ 420 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13.09 ของความจุ โดยยังคงเหลือน้ำสำหรับใช้ในการรักษาระบบนิเวศอีกเพียงประมาณ 14 ล้าน ลบม.เท่านั้น

ขณะที่อ่างเก็บน้ำคลองระบม อ.สนามชัยเขต ปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่ในอ่างจำนวน 11.133 ล้าน ลบม. จากความจุ 55.5 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20.06 ของความจุเท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่จำนวน 3 อ่างประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต มีน้ำคงเหลืออยู่เพียง 0.467 ล้าน ลบม.ของความจุ 4.2 ล้าน ลบม. หรือคิดเป็นร้อยละ 11.12 และอ่างน้ำโจน2 อ.พนมสารคาม มีความจุ 1.96 ล้าน ลบม. ปัจจุบันมีน้ำอยู่ในอ่าง 0.948 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 48.36 

อ่างน้ำโจน16 อ.พนมสารคาม ความจุ 1.97 ล้าน ลบม. ปัจจุบันมีน้ำจำนวน 1.037 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 54.46 ของความจุ ทำให้ภาพรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำของ จ.ฉะเชิงเทรา ทุกแห่งมีน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ 14.18 หรือเหลือน้ำอยู่เพียง 68.591 ล้าน ลบม. จากความจุรวมกันทุกแห่ง 483.63 ล้าน ลบม. ซึ่งส่วนใหญ่น้ำที่เหลือเป็นเพียงน้ำที่จะถูกใช้ในการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา นายจิตรกร เผด็จศึก ประธานหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้เคยกล่าวเป็นข้อเสนอแนะไว้ต่อทางส่วนราชการในหลายเวทีว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมชลประทาน ให้หาทางในการเดินหน้าจัดทำโครงการสูบกลับน้ำจากแม่น้ำบางปะกง เพื่อนำไปกักเก็บไว้ยังในอ่างเก็บน้ำหลักของ จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่มีปริมาณน้ำจืดไหลทิ้งทะเลลงไปมาก โดยไม่มีใครได้ประโยชน์ 

เพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกตรงบริเวณเหนือเขื่อน แต่ส่วนใหญ่ฝนจะตกลงมาในบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อน จึงอยากจะถามว่า หากเป็นอย่างนี้เราจะทำอย่างไร หากไม่เร่งสร้างสถานีสูบน้ำกลับเพื่อนำไปเก็บไว้ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราต้องฝืนธรรมชาติให้ได้ หากเราฝืนไม่ได้เราก็จะไม่มีการพัฒนาด้านแหล่งน้ำต้นทุน นายจิตรกร ระบุ

ส่วนด้าน นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผอ.ชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนนั้น ปัจจุบันได้มีการเตรียมแผนที่จะศึกษาโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนและเป็นพื้นที่สูงใน จ.สระแก้ว มาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำคลองสียัด โดยในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำพระสะทึงมากถึงกว่า 280 ล้าน ลบม. แต่ความจุของอ่างเก็บน้ำพระสะทึง สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 65 ล้าน ลบม.เท่านั้น 

และมักจะเกิดน้ำท่วมที่ด้านท้ายของอ่าง คือ ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี และตัว จ.ปราจีนบุรี แบบเป็นประจำในทุกๆ ปี หากมีปริมาณฝนตกลงมาตามปกติ จึงได้มีการเตรียมการออกแบบเบื้องต้นเอาไว้หมดแล้วเพียงแต่ยังต้องมีการศึกษาในเรื่องของอีไอเอ (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เนื่องจากเป็นงานวางท่อรวมระยะทางประมาณ 30 กม. จากอ่างเก็บน้ำพระสะทึงมายังอ่างเก็บน้ำคลองสียัด โดยมีบางช่วงที่ต้องผ่านผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งจะมีความยุ่งยากอยู่บ้างในส่วนนี้

และในปีนี้เกี่ยวงานที่มีการศึกษาในโครงการนี้ กำลังจะเข้าวาระที่ 2 และ 3 จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในการที่จะได้เริ่มโครงการในการศึกษา ที่คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาโครงการนี้ประมาณ 3 ปีจึงจะแล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเตรียมแบบก่อสร้าง และขอใช้พื้นที่ดินตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป นายธานินทร์ กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา