In News

​ครม.ยก'บุรีรัมย์'พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สนับสนุนงบฯ2ปีถึงปี69กว่า18ล้านบาท



กรุงเทพฯ-วันนี้ (26 มี.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ (สถานศึกษานำร่อง 83 แห่ง) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2569 รวมจำนวน 18,600,000 บาท โดย ศธ. จะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามชั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 19 พื้นที่ ได้แก่กรุงเทพมหานคร จังหวัดจันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด สระแก้ว สตูล ระยอง ศรีสะเกษ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะส่งผลให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่โดยสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างอิสระ ยืดหยุ่น คล่องตัวไม่ต้องอิงกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือไม่เอื้อจากส่วนกลาง เช่น การเลือกใช้หลักสูตร/สื่อการเรียนการสอนออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ สถานศึกษาได้งบพัฒนาเป็นวงเงินรวม (Block Grant) มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถปรับลดและยกเลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครูและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อผู้เรียน สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“จังหวัดบุรีรัมย์มีความพร้อมในการจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เนื่องจากมีแนวทางการดำเนินงานตรงกับแนวคิดหลักของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีแนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา มีแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา มีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือจัดการศึกษา มีหน่วยงานที่มีความเข้าใจเป้าหมายและหลักการสำคัญของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมให้คำปรึกษา ชี้แนะ และเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ อีกทั้ง ยังมีแผนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ชัดเจน” นายคารม กล่าว