In Bangkok
กทม.เข้มป้องกัน-ตรวจการขายบุหรี่ไฟฟ้า รอบสถานศึกษากำชับ7มาตรการ
กรุงเทพฯ-นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวว่า จากกรณีสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ระบุผลการเฝ้าระวังการจัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต พบร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า (ประเภทมีหน้าร้านถาวร) มากถึง 70 ร้าน นั้น ที่ผ่านมา สนศ.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันและตรวจสอบการจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากุ บารากุไฟฟ้า หรือตัวยาบารากุ น้ำยาสำหรับเติมบารากุไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโดยรอบสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเด็กนักเรียนและประชาชน ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในและนอกสังกัด กทม.จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยา หรือสารเสพติดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กัญชง และกระท่อม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือแจ้งเรื่องการตรวจตราจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณโรงเรียน ชุมชนและแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ โดยให้สำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องป้องกันการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณรอบโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่างๆ ตลอดจนสอดส่องดูแลไม่ให้เยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาหรือสารเสพติดทุกรูปแบบ
นอกจากนั้น สนศ.ได้กำชับโรงเรียนในสังกัด กทม.ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาภายใต้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) ประกาศนโยบาย “โรงเรียน...ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงเรียน 2) จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น 3) จัดให้มีการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและการทำบ้านให้ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าแก่ผู้ปกครอง 4) ให้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้ง สนศ.อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชากัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขของโรงเรียนในสังกัด กทม.
สำหรับแนวทางส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดทุกประเภทให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. สนศ.ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตาม 7 มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเคร่งครัดและให้โรงเรียนรายงานผลให้ สนศ.ทราบทุกปีการศึกษาพร้อมนำเข้าข้อมูลอัตราการใช้ยาหรือสารเสพติดของนักเรียนผ่านทางระบบดูแลและติดตามการใช้ยาและสารเสพติดในสถานศึกษา (CATAS System : Care And Trace Addiction in School System) อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) ให้มีการกำหนดนโยบาย “โรงเรียน...ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” ของโรงเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร และถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2) ให้มีการบริหารจัดการภายในโรงเรียนให้ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยจัดตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน 3) ให้มีการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 4) ให้มีการสอดแทรกความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าและผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตรแก่นักเรียนทุกระดับชั้น 5) ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมประกวดสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ในช่องทางที่หลากหลาย 6) ให้มีกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการคัดกรอง ป้องกัน นักเรียนให้คำปรึกษา กรณีพบนักเรียนติดบุหรี่ไฟฟ้าให้มีการส่งต่อนักเรียนเข้าสู่ระบบบริการเลิกบุหรี่ตามความเหมาะสม และ 7) ให้มีการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักเรื่องโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนอ.ได้จัดประชุมชี้แจงนโยบายและแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคจากปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อมในเขตกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 18 มี.ค.67 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ให้ความรู้ความเข้าใจของการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพิ่มเติมของ กทม. เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการยึด อายัดบุหรี่ไฟฟ้าและส่งดำเนินคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนนอกจากนั้น สนอ.ยังได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานตาม 7 มาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ตามโครงการกทม.เขตปลอดบุหรี่ เพื่อส่งเสริมป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของสถานศึกษาสังกัด กทม. จำนวน 437 โรงเรียน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยและสำนักงานเขต 50 เขตสำรวจสถานที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลการเฝ้าระวังและดำเนินการตามกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ สนอ.ได้จัดทำประกาศคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม. เรื่อง แนวทางปฏิบัติเพื่อการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 ก.พ.67 โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ 1) การสร้างความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ โทษ และพิษภัยของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กและเยาวชน 2) การสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานศึกษาเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3) การควบคุมสถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ เป็นเขตปลอดบุหรี่และปลอดบุหรี่ไฟฟ้า 4) การบังคับใช้กฎหมาย 5) การบำบัดรักษาผู้สูบบุหรี่ และสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 6) การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน