EDU Research & ESG
บริติช เคานซิล-อว.เดินหน้ายุทธศาสตร์ ร่วมมือไทย-ยูเคดันงานวิจัยมหา'ลัย
กรุงเทพฯ-27 มีนาคม 2567 – บริติช เคานซิล ร่วมกับ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินหน้าสานต่อความร่วมมือ ไทย – สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ ‘Thai-UK World-class University Consortium’ ในการพัฒนาและส่งเสริมทางด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาผ่านการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติและปฏิรูปแนวทางการบริหารการเรียนการสอนเชิงวิชาการ และวิจัยขั้นสูง ตลอดจนพัฒนาสถาบันอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับการศึกษานำไปสู่การผลิตบัณทิตคุณภาพสูงที่ถือเป็นกลไกลสําคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2567 มีจำนวนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 7 มหาวิทยาลัย ใน 15 สาขาวิชา ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมวางเป้าหมายเร่งเครื่องผลักดัน เสริมสร้างขีดความสามารถให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมุ่งสู่ Ranking 100 อันดับมหาวิทยาลัยโลกในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
มร.แดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่าโครงการ Thai-UK World-class University Consortium จะดึงเอาสุดยอดความรู้และความเชี่ยวชาญของไทยและสหราชอาณาจักร ทั้งในมุมของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักการศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักรเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเกษตรแบบยั่งยืน สันติภาพและความปลอดภัย รวมไปถึงด้านสุขภาพและสาธารณสุข ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรฐกิจ รวมไปถึงสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจระหว่างกันของคนไทยและสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ความสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการ สะท้อนผ่าน 23 โครงการความร่วมมือระหว่าง 7 มหาวิทยาลัยไทยและ 14 มหาวิทยาลัยสหราชอาณาจักร ด้วยการสนับสนุนจากบริติช เคานซิลและกระทรวง อว โดยโครงการความร่วมมือเหล่านี้เริ่มส่งผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ โครงการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ร่วมกับ University College London จัดการศึกษาระดับหลังปริญญาด้านการแพทย์เฉพาะทางด้านการได้ยิน และการทรงตัวได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมของภูมิภาค เป็นการดึงดูดแพทย์จากประเทศอื่น ๆ เข้ามาเรียนที่จุฬา ฯ นอกจากนั้นความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการรักษาผู้ป่วยขั้นสูงในด้านการได้ยินและการทรงตัว รวมทั้งการดูแลตรวจคัดกรองด้วยตนเองผ่าน Mobile Application โดยปัจจุบันได้เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีสำหรับทุกคน
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมอุดมศึกษาถือเป็นกลไกลสําคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปี 2567 ทางอว.มีความพร้อมเดินหน้าปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยความร่วมมือกับทางบริติช เคานซิล ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติในการส่งเสริมการศึกษาผ่าน โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร (TH-UK World-class University Consortium) ถือเป็นส่วนหนึ่งบทบาทสำคัญของอว.ในการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยผ่านการจับคู่กับมหาวิทยาลัยในสหราชอณาจักร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทั้งในด้านระบบการเรียนการสอน ระบบบริหารมหาวิทยาลัยจากความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักร ตลอดจนพัฒนางานวิจัยขั้นสูงที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันและมีความเชื่อมโยงในระดับสากล อาทิ ด้าน EV-AI Soft Power รวมถึงทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ สมรรถนะในเชิงการแข่งขันของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติ นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อเป็นบุคลากรชั้นแนวหน้าที่พร้อมขับเคลื่อนและสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติในอนาคตต่อไป”
ด้าน รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือไทย – สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการจับคู่ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานในรูปแบบเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับนานาชาติแล้ว ยังสอดคล้องกับทิศทางแนวนโยบายด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) ในการพัฒนาปรับปรุงระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยแบบองค์รวมทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยได้มีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและพัฒนาความเป็นเลิศตามความเชี่ยวชาญของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยได้จัดแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยขั้นสูงสู่ระดับนานาชาติ 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการเข้าถึงการร่วมมือ 4.กลุ่มพัฒนาด้านหลักศาสนาเพื่อเสริมสร้างจริยธรรมและปัญญา 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง”
ส่วนในการพัฒนาการเรียนการสอนผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ภัทรียา กิจเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ดำเนินโครงการร่วมกับ University of Reading มาเป็นเวลากว่า 3 ปี ได้เล่าถึงความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติสองปริญญา (Double Degree) ด้านการออกแบบและพัฒนาสังคม (Society Design Development Programme) มุ่งผลิตผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ที่จะได้มีโอกาสได้ความรู้และวุฒิการศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและ University of Reading ของสหราชอาณาจักร
โดยศาสตราจารย์ ดร.ศุภจิตรา ชัชวาลย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ดำเนินงานความร่วมมือร่วมกับ The University of Liverpool ได้กล่าวเสริมถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ ฯ ว่าได้ช่วยให้เกิดการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยและคณาจารย์จากทั้งสองมหาวิทยาลัย โดยเป็นการใช้ความชำนาญของบุคลากรทั้งสองฝ่ายในการทำโจทย์วิจัยที่มีความสนใจร่วมกัน ทำให้ได้ผลงานวิจัยที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการพัฒนาด้านการวิจัยดังกล่าวมีนิสิตเข้าร่วมในโครงการผ่านหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญา Dual PhD Programme ทำให้เกิดการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ร่วมด้วยในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ในด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยในหลักสูตรได้เริ่มมีการส่งผลงานตีพิมพ์ร่วมกันกับนักวิจัยของสหราชอาณาจักรด้วย
โดยในปีนี้ 2567 นี้โครงการได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว โดยบริติช เคานซิลและกระทรวง อว ยังคงผสานความร่วมมือกับ 7 สถาบันอุดมศึกษาของไทย ใน 15 สาขาวิชา ได้แก่ 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 สาขา (สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ 2 โครงการ สาขาภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนศาสตร์) 2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และป่าไม้) 3.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 1 สาขา (วิชาแพทยศาสตร์) 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ) 5. มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 สาขา (สาขาวิชาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์) 6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาพัฒนาศาสตร์) 7. มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์)
สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของกิจกรรมตลอดทั้งปี ของบริติช เคานซิล ได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือ เฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand