EDU Research & ESG

'สสส.-เครือข่ายงดเหล้า'หนุนครูปฐมวัย ร่วม'โครงการปลูกพลังบวกฯ'ในหลักสูตร



กรุงเทพฯ-สำนักงานเครือข่ายองค์กรลดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้“โชว์ แชร์ เชื่อม เชิดชูเกียรติ” ครูปฐมวัย และผู้บริหารสถานศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย ระดับจังหวัด โดยมี ดร.วีระ แข็งกสิการ  ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด และนายพิทยา จินาวัฒน์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. กล่าวถึงวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ของโครงการฯ พร้อมด้วยนายจำเริญ แหวนเพ็ชร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะครูจากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกว่า 200 คน ร่วมในพิธี โดยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานศึกษาต้นแบบเข้ารับเกียรติบัตร จำนวน 62 แห่ง และสถานศึกษาแหล่งเรียนรู้รับโล่ จำนวน 10 แห่ง ณ โรงแรมสกายวิวรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

นายพิทยา คณะกรรมการบริหารแผนคณะ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย ระดับจังหวัด  โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ซึ่งมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 1,989 แห่ง ใน 35 จังหวัด         สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการปลูกพลังบวกฯ ภายใต้สโลแกน “โชว์ แชร์ เชื่อม เชิดชูเกียรติ” โดยผู้บริหารสถานศึกษา และครูปฐมวัยได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อการดำเนินงานโครงการฯ

รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดี และมีการจัดนิทรรศการของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 30 บูธกิจกรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดเลย จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม   โดยมีสถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 409 สถานศึกษา ประกอบด้วย สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ 10 แห่ง สถานศึกษาต้นแบบ 62 แห่ง และสถานศึกษาเครือข่าย จำนวน 337 แห่ง  โดยจากโครงการทั้ง 4 ภูมิภาคระดับประเทศ มีสถานศึกษาต้นแบบเข้ารับเกียรติบัตร จำนวน 112 แห่ง และสถานศึกษาแหล่งเรียนรู้รับโล่ จำนวน 50 แห่ง    

ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กปฐมวัยและเยาวชนหลายด้านโดยเฉพาะ เหล้า - บุหรี่ จากการวิจัย พบว่า มีนักดื่มเหล้าและนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ช่วงอายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 คนไทยดื่มเหล้าเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีแนวโน้มนักดื่มเหล้า นักสูบบุหรี่มีอายุน้อยลง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเด็กและมีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อเด็กทั้งในปัจจุบันและอนาคต การจัดทำโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย ระดับจังหวัด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิตเป็นภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ อีกทั้งเป็นการพัฒนาครูปฐมวัยและผู้บริหารสถานศึกษาให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สถานศึกษาที่มีการดำเนินงานโครงการปลูกพลังบวกฯ จนเกิดวิธีปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ภายใต้กิจกรรม “โชว์ แชร์ เชื่อม เชิดชูเกียรติ”

การศึกษาปฐมวัย เป็นการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศให้ความสนใจในการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยให้สอดคล้องกับธรรมชาติและการเรียนรู้ของเด็ก    กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการพัฒนาเด็กให้เตรียมพร้อมสู่โลกอนาคตได้อย่างมีคุณภาพและมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพเด็กด้านความสามารถและทักษะตลอดจนคุณลักษณะ ที่จะช่วยสร้างให้เด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพตามเป้าหมายหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 พร้อมทั้งให้มีทักษะชีวิตเป็นภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต เด็กปฐมวัยจึงต้องมีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมทางสังคมได้อย่างปลอดภัยและอยู่ร่วมสังคมอย่างมีความสุข

นางมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวก ฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงที่มาของโครงการปลูกพลังบวกฯ ว่า เดิมในการรณรงค์ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ  สคล.เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยผู้ใหญ่ ซึ่งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หลังจากได้มีการทำงานกับนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กเมื่อปี 2558 โดยเริ่มต้นจากการพบปัญหาความรุนแรงในเด็ก ปัญหาเด็กติดเกม และปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นกับเด็กมากมาย และมีรายงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กโดยพบว่า ช่วงวัยทองสำหรับเด็ก คือ อายุ 2-6 ปี เป็นช่วงวัยสำคัญของการเรียนรู้ของมนุษย์ โดย 80 % ของการเจริญเติบโตของสมองเกิดขึ้นในวัยก่อนอนุบาล และงานวิจัยยังระบุว่าการพัฒนาของสมองในระยะแรกจะส่งผลสืบเนื่องยาวนานไปตลอดชีวิต ดังนั้น การจะแก้ปัญหาต่าง ๆ จึงต้องเริ่มที่การสร้างคนและต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อให้ปลายทางเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนคุณภาพ

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายนักวิชาการจึงได้ร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในเด็กปฐมวัย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ และเพื่อให้เด็ก ๆ ได้กลับไปสื่อสารกับครอบครัว ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัยในช่วงอายุที่สมองของเขาจะจดจำและส่งผลต่อเนื่องจนเขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เริ่มแรกของพัฒนาสื่อด้านการ ร้อง เล่น เต้น อ่าน รวมจำนวน 20 สื่อ ภายใต้โครงการเด็กไทยคิดได้ต้านภัยสังคม และต่อมาในปี 2560 จึงพัฒนามาเป็น โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย โดยมีกระทรวงศึกษาธิการร่วมให้การสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรที่ง่ายต่อการนำไปใช้ เพื่อให้สามารถผนวกเข้ากับระบบการเรียนการสอนของครูปฐมวัย ทั้งนี้ เบื้องต้นมีสถานศึกษาเครือข่ายที่เข้าร่วมทดลองใช้กิจกรรมปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่สำหรับเด็กปฐมวัย จำนวน 42 แห่ง

ในปี 2563-2565 ได้ขยายสถานศึกษาเครือข่ายการจัดกิจกรรมปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย สู่ภูมิภาค 4 จังหวัด จำนวน 239 สถานศึกษา โดยภาคเหนือ จ.น่าน  ภาคกลาง จ.ราชบุรี  ภาคอีสาน จ.ศรีสะเกษ ภาคใต้ จ.ชุมพร และขยายสู่ 4 สังกัดการศึกษา ได้แก่ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)

นางสาว ปิยะพร ทองสิงห์  จากโรงเรียนอุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีษะเกษ กล่าวว่า หลักสูตรของโครงการปลูกพลังบวกฯ ดีมาก ๆ  เพราะเป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นโดยการระดมนักวิชาการจากทั่วประเทศมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะกับทุกพื้นที่ ดังนั้น ไม่วาจะเป็นพื้นที่ใดก็สามารถนำหลักสูตรนี้ไปสอดแทรกหรือผนึกเข้ากับการเรียนการสอนได้ สำหรับโรงเรียนอุทุมพรพิสัย เข้าโครงการปี 2562 ผ่านมาถึงปัจจุบันสามารถพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นสถานศึกษาต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้นั้น เกิดจากการที่ทางโรงเรียนนำหลักสูตรของโครงการปลูกพลังบวกฯ มาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการสอนของเราให้เป็นงานเดียวกันทำให้คุณครูไม่ต้องทำงานเพิ่ม ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราพบ คือ บางครอบครัวเด็ก ๆ สะท้อนกลับมาว่า คุณพ่อเลิกเหล้า-บุหรี่  จะเห็นได้ว่าผู้ปกครองก็รู้สึกอายที่จะปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก

“สิ่งที่เราปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก อาจจะไม่เห็นผลในวันนี้  แต่การปลูกฝังให้เขามีความรักตัวเอง รู้จักคิดวิเคราะห์ แยกแยะว่าอะไร เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีสำหรับเขา โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทานกระจงก่งก๊ง กระจงตกถังสุรา ให้เขาเป็นตัวละครที่จะต้องเดินทางผ่านอุปสรรคอย่างไรไม่ให้ตกถังสุรา จำลองให้เขาพบอุปสรรคระหว่างทางให้เขารู้จักคิดเป็น ทำอย่างไรให้ตนเองรอดปลอดภัยจนถึงปลายทางได้  ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการปลูกฝังให้อยู่ในจิตใต้สำนึกของเขาตั้งแต่วัยเด็ก จะเป็นการสร้างภูมิให้เขารู้จักหลีกเลี่ยงป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยง เขาจะเติบโตขึ้นเป็นคนคุณภาพของสังคม” ครูปิยะพร กล่าวในตอนท้าย