In News
รัฐฯรุกเจรจาเป็นหุ้นส่วนศก.ไทย-เกาหลี ดึงดูดการค้า-ลงทุนเพิ่มขีดการแข่งขัน
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลฯ เผยรัฐบาลเดินหน้าเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ดึงดูดการค้า การลงทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย
วันนี้ (31 มี.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำชับการทำงานให้ผลักดันการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ รักษาตลาดเก่า เพิ่มเติมตลาดใหม่ ที่สินค้าไทยมีศักยภาพตีตลาดได้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับทุกตลาด โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับนโยบายนายกรัฐมนตรีเร่งเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สาธารณรัฐเกาหลี (Economic Partnership Agreement: EPA) สานต่อความตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมของไทย ดึงดูดการลงทุน รวมถึงเปิดตลาดสินค้าและบริการของไทยไปยังสาธารณรัฐเกาหลีมากขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารขอบเขต (Terms of Reference: TOR) ระหว่างนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนายคอนกี โร (Keonki Roh) ตำแหน่ง Deputy Minister for Trade Negotiation ของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (Ministry of Trade, Industry and Energy : MOTIE) ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สาธารณรัฐเกาหลี (Economic Partnership Agreement: EPA) อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีการเจรจารอบแรกในช่วงกลางปี 2567
การเจรจาความตกลงในครั้งนี้ต่อยอดมาจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–เกาหลี (ASEAN - Korea Free Trade Agreement: AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นการพัฒนาความร่วมมือต่าง ๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เช่น การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่การผลิต และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งเป็นการเพิ่มการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลี ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2566 สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทรายแผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม รัฐบาลเชื่อมั่นว่า ผลจากการเจรจาในความตกลงดังกล่าว จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออก และการเปิดตลาดของทั้ง 2 ประเทศระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้สินค้าและบริการหลากหลายชนิดของไทย ได้รับประโยชน์จากความตกลงนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เช่น แป้ง ซอสและของปรุงรส ผลิตภัณฑ์ไม้ เช่น ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด เคมีภัณฑ์ และ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า บริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการค้า การส่งออกนอกจากจะสร้างเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนไทยในทุกสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลจึงส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผ่านการเดินหน้าเจรจาในความตกลงต่าง ๆ เพื่อหาช่องทางและตลาดการค้าแห่งใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย พร้อมกันนี้ รัฐบาลดำเนินการเพิ่มศักยภาพสินค้าไทยให้มีความพร้อมในด้านการแข่งขัน และเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายตามยุทธศาสตร์นโยบายการค้าใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี” นายชัย กล่าว