In Bangkok

เปิดวิสัยทัศน์ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกมิติ สร้างกรุงเทพฯสู่ Learning City



กรุงเทพฯ-กทม.เปิดวิสัยทัศน์ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกมิติ สร้างกรุงเทพฯ สู่ Learning City เมืองแห่งการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต 

(31 มี.ค. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว Bangkok Learning City : Learning for Life Opportunities for All นโยบายสร้างกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO (UNESCO Global Network of Learning Cities) ในงาน BKK Read & Learn Festival ณ ลานจามจุรี สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนา เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญคือพวกเราทุกคนในกรุงเทพมหานครต้องร่วมมือกัน วันนี้ขอมาบอกเล่าถึงนโยบายที่เราได้ทำและจะทำต่อไปว่า Learning for Life, Opportunities for All เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ในวิสัยทัศน์ของเรานั้นเป็นอย่างไร 

กรุงเทพมหานครมีวิสัยทัศน์ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ที่มุ่งเน้นดูแลตั้งแต่เด็กปฐมวัย การพัฒนาการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กวัยเรียน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับวัยรุ่น-วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน (0-6 ปี) ให้ได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนตามทะเบียนราษฎร์ในกรุงเทพฯ  284,677 คน อยู่ในความดูแลของกทม. 83,264 คน จะเพิ่มอีก 20,000 คน ผ่านชั้นเรียนอนุบาลโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 271 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่ง และศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ 8 แห่ง 

ในส่วนการศึกษาภาคบังคับได้พัฒนาจากห้องเรียนแบบเก่าเป็นห้องเรียนดิจิตอล (Digital Classroom) ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ผู้เรียน มีความสนุกสนาน กระตุ้นการพัฒนาทางด้านวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาแบบ Active และ PBL เช่น Unplug Coding, Blockly, Scratch, Data Science, AI, Robotics และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน 

ส่วนการพัฒนาทักษะอาชีพ กทม.ดูแลทั้งด้านการ Reskill คือการเปิดให้เรียนรู้ทักษะอาชีพใหม่ที่แตกต่างเพื่อไปสร้างอาชีพใหม่ได้ ด้านการ Upskill ด้านการเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ NEW Skill เรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
สุดท้ายที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for all, anywhere, anytime) ซึ่งไม่ได้จำกัดการเรียนรู้แค่เพียงเด็กวัยเรียนภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เยาวชน ศูนย์นันทนาการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุด บ้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สวนสาธารณะ และภายในชุมชนทุกรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตพระนคร โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมและการพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม 

“การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ฯ เกี่ยวข้องกับหลายมิติ เช่น การดูแลเด็กปฐมวัย เรียนรู้ในโรงเรียนภาคบังคับ การพัฒนาทักษะอาชีพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา ล้วนเป็นหัวใจในการเดินหน้านโยบายนี้ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรายังคงต้องทำงานอีกยาวไกล ขอบคุณ UNESCO ภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง ขอให้ร่วมกันเดินหน้าต่อไปเพื่อกรุงเทพมหานคร” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว 

ภายในงานวันนี้ ยังมีกิจกรรมไฮไลต์ เช่น หนังสือในสวน ครั้งที่ 2 คิกออฟกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ภายใต้แนวคิด “I’m in” การมีส่วนร่วมพัฒนากรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่ไปด้วยกัน ผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการ #BKKBookTok  การเสวนาวิธีสร้างคอนเทนต์ให้ติดเทรนด์  ช้อปหนังสือเล่มละบาทจากมูลนิธิกระจกเงา เล่นอิสระ Free play จาก เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และ Plantoys มุมนิทานสำหรับเด็ก จาก TK PARK  กิจกรรมบอร์ดเกมในสวน จากสมาคมบอร์ดเกม กิจกรรม part of life จิ๊กซอว์ถอดการเรียนรู้ จาก Fathom Bookspace เป็นต้น 

ในวันนี้มี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม คุณริกะ โยโรสุ ผู้แทนจาก UNESCO และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมในงาน