In News

รัฐฯฟุ้ง!!ยอดขอจัดตั้งโรงงานโตต่อเนื่อง ชี้ 3เดือนแรกของปี67กว่า7หมื่นล้านบาท



กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย เป็นไปตามการกำหนดนโยบายของนายกฯ ยอดขอจัดตั้งโรงงานใหม่โตต่อเนื่อง 3 เดือนแรกของปี 2567 มีตัวเลขกว่า 7 หมื่นล้านบาทพร้อมหนุนการลงทุน PCB ในไทยต่อเนื่อง ตั้งเป้าไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำตลาดโลก

วันนี้ (1 เมษายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยยอดขอจัดตั้งโรงงานใหม่ โดยย้ำว่า ช่วง 6 เดือน ตามปีงบประมาณ 2567 มีการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรม 255,586.74 ล้านบาท โดยช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมฯ กว่า 7 หมื่นล้านบาท เป็นไปตามนโยบายสนับสนุนการขยายการลงทุนของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงสถิติการออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ปี 2566 อนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบปี 2565 และจ้างงาน 106,631 คน

โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรม 255,586.74 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะปี 2567 ช่วง 3 เดือนแรกของปี มีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมฯ แล้วกว่า 70,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียน ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อช่วงชิงโอกาสการสร้างซัพพลายเชนของการผลิต PCB และเพื่อโอกาสการเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากมีการปรับปรุงมาตรการครั้งนี้แล้วไทยจะดึงดูดการลงทุน PCB รายใหญ่ของโลกอีก 10 รายเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งจะสร้างคลัสเตอร์ของ PCB และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนแรกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทหรือโรงงานละกว่า 1 หมื่นล้านบาท

“นอกจากการชักชวนให้เกิดการลงทุน นายกรัฐมนตรีสั่งการ ดำเนินการควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน พัฒนาโครงสร้าง ปรับปรุงกฎระเบียบ Ease of doing business รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้วางนโยบายเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่จะอำนวยความสะดวกให้การลงทุนในอนาคต พลังงานสะอาดที่เพียงพอ แรงงาน กำลังคนที่มีคุณภาพ และเจรจาเพื่อการลงนาม FTA หาตลาด การขนส่ง Logistics ที่มีมาตรฐาน สร้างซัพพลายเชนของสินค้าที่มีศักยภาพให้สมบูรณ์ เชื่อมั่นว่าการทำงานที่ผ่านมาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นจะเห็นผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง” นายชัย กล่าว