EDU & ESG
สมศ.ผนึก4ภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อน ส่งเสริมการนำผลประเมินเพื่อพัฒนา
กรุงเทพฯ-สมศ.ดึง 30 สถาบันอุดมศึกษาร่วมเป็นเมนเทอร์ส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้ฯ สุดปลื้มสถานศึกษาเฉียด 900 แห่งเข้าร่วมโครงการ มั่นใจพัฒนาได้ตรงจุดมากขึ้น
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.ผนึกกำลัง 4 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายสถานศึกษา เครือข่ายหน่วยงานต้นสังกัดส่วนกลางและในระดับพื้นที่ เครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิ และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.” ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ปลื้มผลตอบรับทะลุเป้า มีสถานศึกษาสมัครเข้าร่วม 879 แห่ง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสถานศึกษาที่พร้อมพัฒนาทั้งหลักสูตร ผู้เรียน คุณภาพสถานศึกษาให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง สมศ. กับหน่วยงานต้นสังกัดส่วนกลาง 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสถาบันอุดมศึกษาในนามศูนย์ประสานงาน สมศ. จำนวน 30 แห่ง เรื่อง ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี และรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งจากการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมา พบว่าภายหลังจากที่สถานศึกษาได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. แล้ว สถานศึกษาบางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของตนเองแบบทันทีทันใด ทำให้ข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกไม่เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเท่าที่ควร
ดังนั้น สมศ. จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยดำเนินการร่วมกันภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ระหว่าง สมศ. ภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 30 แห่งในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.” ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อน สนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประกันคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ด้วยการนำประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้จากรายงานการประกันคุณภาพภายนอกของสถานศึกษามาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำเป็นแผนพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาว ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่สถานศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาจัดทำกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามวงจรควบคุมคุณภาพ (PDCA)
“สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ สมศ. ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยมีสถานศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ถึง 879 แห่ง จากที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 150 แห่ง และได้คัดเลือกเหลือเพียง 165 แห่ง โดยคัดเลือกจากสถานศึกษาที่มีผลการประเมินระดับดีลงมา นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีที่จากเดิมเรามีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาร่วมขับเคลื่อน 27 แห่ง แต่ปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และ มหาวิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา รวมจำนวนสถาบันอุดมศึกษาทั้งสิ้น 30 แห่ง ซึ่งสถาบันอุดมศึกษามีความสำคัญอย่างมากในมิติของการให้คำปรึกษา เช่น ทำอย่างไรที่จะให้หลักสูตรการเรียนการสอนมีความเหมาะสมและตรงกับบริบทของผู้เรียนมากที่สุด
แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาในสถานศึกษาและการแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสม ตลอดจนการดึงความโดดเด่นหลักสูตรของแต่ละสถาบันอุดมศึกษามาปรับใช้กับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งต่อยอดได้ทั้งนวัตกรรมใหม่ สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ถือว่าเป็นโครงการฯ ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีการสอนเรื่องงานประกันคุณภาพอยู่แล้ว ก็สามารถนำประสบการณ์จริงที่ได้ทำงานร่วมกับสถานศึกษาไปใช้ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัย หรือนำปัญหาอุปสรรคของสถานศึกษาที่พบมาใช้เป็นกรณีศึกษา หรือกำหนดหัวข้อวิจัยได้ ส่วนสถานศึกษาเองก็จะได้ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานต้นสังกัดมากขึ้น ทำให้หน่วยงานต้นสังกัดมองเห็นปัญหาและช่วยส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาได้อย่างตรงจุด
นอกเหนือจากโครงการส่งเสริมให้มีการนำผลการประเมินไปใช้แล้ว สมศ. ยังมีการติดตามสอบถามความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับการติดตามสถานศึกษาที่นำผลการประเมินไปใช้แล้วว่า ปัจจุบันนี้มีการพัฒนาไปในทิศทางใด เกิดผลสำเร็จตามเป้าหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่สังคมหรือ Social Return of Investment ได้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการประเมินให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป