Think In Truth

ภาพเขียนสี'ท้าวสุพรหมโมกขา'บอกอะไร กับคนไทย  โดย: ฟอนต์ สีดำ



หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่พบในประเทศไทยคือ ภาพเขียนสี ซึ่งจะพบภาพเขียนสีบนหน้าผาหินจำนวนมากในประเทศไทย ไม่ว่า ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี  ภาพเขียนสีที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี  ภาพเขียนสีที่ถ้าผาไท จังหวัดเพชรบุรี ภาพเขียนสีที่ถ้ำผายล จังหวัดสกลนคร ภาพเขียนสีที่ถ้ำเขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา ภาพเขียนสีถ้ำผีแมน จังหวัเลย ภาพเขียนสีที่ถ้ำเขาพลายดำ จังหวัดเพชรบุรี ภาพเขียนสีที่ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งภาพเขียนสีที่พบจะเป็นภาพคน ภาพสัตว์ ที่ประกอบภาพเป็นประกอบอาชีพ พิธีกรรม และการเล่าเรื่องบางอย่างที่ต้องตีความ ที่สอดคล้องกับนิทานชาดก ที่สืบทอดต่อๆ กันมา

ภาพเขียนสีที่พบ นักวิชาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ก็จะตีความต่างๆ นาๆ ตามภาพที่เห็น แต่โดยส่วนใหย่แล้วจะตีความในลักษณะของการดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมใน และอาจจะแตะไปถึงความเชื่อบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ จะไม่กล้าที่จะโยงเข้ากับนิทานชาดกนอกณิบาต เพราะขาดหลักฐานเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งนั่นก็เป็นหลักการแห่งการตีความที่ต้องพิสูจน์ความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่มองว่านิทานชาดกนอกณิบาตทั้งหลายเป็นเพียงนิทานที่จะเอาความจริงที่โยงกันไม่ได้ ซึ่งก็จะให้กับความสำคัญในการตีความของนักวิชาการที่มีกรอบคิดทางวิทยปรัชญา(Philosophy of Science) แบบตะวันตก ที่ตีความตามจินตนาการที่หลุดไปจากกรอบคิดของผู้สร้างสรรค์ศิลปะภาพเขียนในดินแดนอุษคะเนย์ ซึ่งผู้เขียนจึงขอเป็นตัวแทนของบุคคลที่เติบโตในวัฒนธรรมของอุษาคะเนย์ในการตีความภาพเขียนสีที่พบในประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคมอุษคะเนย์ ที่มีความสลับซับซ้อนทางวัฒนธรรม และต้องใช้พหุปัญญาที่เชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมในประเด็นต่างๆ บูรณาการในการตีความ ซึ่งอาจจะทำให้นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ที่ยังใช้หลักในการตีความแบบตะวันตกนั้นขาดความเข้าใจหรืออาจจะไม่กล้าตีความในทิศทางนั้น หรืออาจจะงงกับกาตตีความในลักษณะนี้ ซึ่งถ้ามีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในอุษาคะเนย์อย่างครอบคลุมก็จะไม่ยากที่จะทำความเข้าใจได้

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในฐานคิดของผู้เขียน ผู้เขียนขอให้เอากรอบคิดแบบศาสนาพุทธและวิธีวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ออกไปจากวิธีคิดวิเคราะห์เสียก่อน และรับข้อมูลที่เป็นทรัพยากรในการใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ทางความคิดแบบพุทธและวิทยาศาสตร์ในภายหลัง เพราะภาพเขียนสีเหล่านี้เป็นภาพเขียนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และก่อนพุทธกาล

ภาพเขียนสีเหล่านั้นเป็นภาพเขียนสีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนในสมัยก่อนยุคประวัติศาสตร์ และจะพบในสุสานหรือสถานที่ปลงศพของผู้ตาย ในภาพเขียนนั้นจะมีภาพคนที่มีอากับกิริยาต่างๆ ไม่ว่ายิงธนู ภาพเดิน ภาพลอยในอากาศ ภาพวัว ภาพนก ภาพเต่าฯ ภาพต่างๆ เหล่านั้นก็ถูกตีความไปต่างๆ กันไป เช่น ภาพหมา ก็ตีความเป็นสัตว์นำทางให้ผู้ตายไปพบพญาแถน ภาพวัว ภาพคนก็ตีความถึงการทำนา ภาพคนยิงธนูก็ตัความถึงการล่าสัตว์ ภาพคนมีกิจกรรมร่วมกัน ก็มองว่าเป็นพิธีกรรมบางอย่าง เป็นต้น ด้วยที่ผู้เขียนเป็นคนที่เกิดและโต ในดินแดนที่มีภาพเขียนสีบางภาพ และอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีภาพเขียนสีหลายแหล่ง ก็จะได้รับรู้จากคนเก่าคนแก่ได้เล่าถึงภาพเขียนสีเหล่านี้ให้ฟังว่า เป็นเรื่องของตำนานที่เป็นนิทานนอกณิบาต เรื่อง “ท้าวสุพรหมโมกขา หมาสี่เท้าเก้าหาง นางไข่ฟ้า” ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ได้คิดอะไร ก็มองเป็นเพียงนิทานโบราณที่คนแก่เล่าให้ลูกหลานฟัง เป็นคติสอนใจ ให้ตระหนักถึง “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” แต่พอได้พิสูจน์อายุของภาพเขียนสีเหล่านี้ก็พบว่า อายุมากกว่าพระพุทธศาสนามาก แต่เรื่องราวก็ยังสอดคล้องกับหลักธรรมของนิทานเรื่องนี้ แล้วนิทานเรื่องนี้ใช้หลักอะไรในการประมวลโครงสร้างของเรื่อง ให้ออกมาสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ทันสมัย ได้อย่างอย่างนี้

เรื่องนิทานชาดกนอกณิบาต เรื่อง “ท้าวสุพรหมโมกขา หมาสี่เท้าเก้าหาง นางไข่ฟ้า” ซึ่งมีการจารึกที่ปราสาทหินพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ และมีการเอ่ยถึงในวรรณกรรมต่างๆ หลายเรื่อง เช่น ท้าวแสนปม : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ,  ท้าวสุวรรณมาลี : นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน , พรานบุญ : นิทานพื้นบ้านภาคใต้ , ขุนช้างขุนแผน : กลอนเสภา สมุดใบลาน สุพรหมโมกขา(สุพรหมโมกข์) : หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ (Link : finearts.go.th/suphanburilibrary/view/15391-สุพรหมโมกขา--สุพรหมโมกข์---34-9- ) นั่นหมายความว่า เรื่องนิทานชาดกนอกณิบาติ เรื่อง “ท้าวสุพรหมโมกขา หมาสี่เท้าเก้าหาง นางไข่ฟ้า” มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนไทย และยังคงมีความเชื่อถือต่อสังคมไทยอยู่ไม่น้อย

เรื่องย่อของ เรื่องนิทานชาดกนอกณิบาติ เรื่อง “ท้าวสุพรหมโมกขา หมาสี่เท้าเก้าหาง นางไข่ฟ้า”  ดังนี้ “ท้าวสุพรหมโมกขาเป็นพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นคนยากจน เกิดเป็นลูกชายคนเดียวของนายพรานป่า พ่อของท้าวสุพรหมโมกขาได้สั่งไว้ก่อนตายว่า ให้เอาศพของเขาไปไว้ที่ปลายนา และด้วยอานิสงส์ของบุญ พืชผลในไร่นาก็งอกงามดี พระอินทร์จึงส่งนางไข่ฟ้ามาสิงอยู่ในกะโหลกศพ คอยดูแลบ้านและอาหารให้ท้าวสุพรหมโมกขา

ต่อมา ท้าวสุพรหมโมกขาก็ได้พบกับนางไข่ฟ้า และแต่งงานกัน แต่เจ้าเมืองตุตระนครเกิดหลงรักนางไข่ฟ้า จึงหาเรื่องกลั่นแกล้งท้าวสุพรหมโมกขา ท้าวสุพรหมโมกขาก็ต้องออกผจญภัยเพื่อตามหานางไข่ฟ้า และเอาชนะเจ้าเมืองตุตระนครในที่สุด
ท้าวสุพรหมโมกขานั้น เป็นตัวละครที่โด่งดังในวรรณคดีไทย เรื่อง "สุพรหมโมกขา" และยังมีการเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของท้าวสุพรหมโมกขานั้น สอนให้เรารู้จักอดทน ต่อสู้กับอุปสรรค และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง"

ในความจริง บทนิทานเรื่อง “ท้าวสุพรหมโมกขา หมาสี่เท้าเก้าหาง นางไข่ฟ้า” นี้ถูกเล่าออกมาได้อย่างมีอรรถรส ในแต่ละบทแต่ละตอน ผู้เล่าสามารถบิ้วอารมณ์คนฟังให้คล้อยตามได้ในทุกบท อีกทั้งยังเอ่ยถึงสถานที่สำคัญที่ยังคงมีอยู่จริงในปัจจุบัน เช่น ภูเก้า ซึ่งเกิดจากการที่ท้าวสุพรหมได้โยนกะโลกศรีษะบิดา(ท้าวมหาพรหม)ขึ้นบนท้องฟ้า แล้วแตกออกเป็น 9 เสี่ยงกลายเป็นภูเขา 9 ลูก ที่เรียกว่า “ภูเก้า” ซึ่งต่อมาภูเก้าได้ยุบตัวไป 4 ลูก เลืออยู่ 5 ลูกในปัจจุบัน จึงเรียกว่า “ภูพานคำ” ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการบำเพ็ญเพยรของท้าวสุพรหม และสถานที่จุติของนางไข่ฟ้า น้ำพองหรือคนพื้นที่เรียกว่า “พองหนีบ” คือสถานที่เวิ้งน้ำที่ท้าวสุพรหมต้องเกาะหมาเก้าหางลอยน้ำเพื่อตามหานางไข่ฟ้า เมื่อถึงช่องเขา น้ำเชี่ยวที่เกิดจากร่องน้ำหนีบเล็กลง จนทำให้การลอกผ่านลำบาก และช่องแคบของร่องน้ำได้หนีบเอาหางหมาหลุดไป 8 หาง จนทุกวันนี้หมามีหางเหลือแค่หางเดียว หางทั้ง 8 ได้ไหลไปตามน้ำพอง ลงไปแม่น้ำชี ลงแม่น้ำมูล ออกแม่น้ำโขง และไปติดเกาะแก่งที่สีพันดอน กลายเป็นน้ำตกหลี่ผี ในปัจจุบัน

ในเรื่องยังเอ่ยถึงการเริ่มต้นการประกอบอาชีพทางการเกษตรของคน ในดินแดนอุษาคะเนย์ จากการที่ท้าวสุพรหมเป็นผู้ที่ปวารนาตนจะไม่ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่สืบทอดอาชีพล่าสัตว์เหมือนกับท้าวมหาพรหมผู้พ่อ จึงหันกลับมาทำการเกษตรด้วยการปลูกผัก ผลไม้ แต่ไม่มีข้าวในการเลี้ยงหมา เพราะไม่ได้ล่าสัตว์เหมือนมหาพรหมผู้พ่อ จึงให้หมาเก้าหางไปขอพันธุ์ข้าวจากพระอินทร์ หมาเก้าหางจึ้งแปลงกายเป็นนกบินขึ้นไปสวรรค์นำพันธุ์ข้าวลงมาให้ท้าวสุพรหมได้ปลูก เมื่อได้พันธุ์ข้าวเยอะขึ้น ท้าวสุพรหมก็เอาพันธุ์ข้าวแจกจ่ายแก่ผู้คนได้ปลูกเพื่อการดำรงชีพ ภาพวัว เป็นการเอ่ยถึงการพนันสู้วัวกับเจ้าตุตะนคร เพื่อพนันเอาเมืองกับนางไข่ฟ้า ในความเชื่อที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ตีความ ก็ถือว่าไม่ได้ผิดไปจากความเชื่อ หากแต่ไม่สมบูรณ์ตามตำนานที่มีการสืบต่อกันมา

ความเชื่อเรื่องภาพหมา นั้น ทางนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ตีความไว้ว่า หมาเป็นสัตว์ที่จะนำทางวิญญาณของผู้ตายได้กลับมาเกิดอีกครั้ง ตามคติความเชื่อของกลุ่มคนในศาสนาผี ซึ่งโดยความจริงแล้ว ยังไม่รู้ว่าความเชื่อเหล่านั้นเรียกว่าศาสนาผีหรือไม่ เพราะเป็นการกำหนดของกลุ่มตีความทางประวัติศาสตร์ที่ถูกชี้นำจากผู้เชี่ยวชาญทางตะวันตก แต่ในคติความเชื่อของคนเก่าคนแก่ ปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมแก่ชนรุ่นหลัง คือการปฏิเสธการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อคน ตามเอกสารจริยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ 8000 ปี ของอ่ำ ธัมมทัตโต รวมไปถึงเป็นสัตว์ที่นำพาไปตามเส้นทางแห่งการเคารพต่อฝ่ายหญิงด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายสนับสนุนที่สำคัญในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้ สรุปว่าหมา เป็นผู้นำทางแห่งชีวิตของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ความเชื่อนี้ ยังคงมีอิทธิพลกับคนในสังคมอุษคะเนย์ทั่วไป แม้แต่พิธฝังศพในพื้นที่ราบ อย่างที่ศรีเทพ ก็พบกระดูหมาในหลุมฝังศพด้วย

ดังนั้นภาพเขียนสี จึงไม่ใช่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่จะตีความแบบง่ายเท่าที่มองเห็น แต่ยังต้องเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่สืบทอดผ่านทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ที่มีต่อวิถีชีวิตอย่างลึกซึ้ง และความเข้าใจต่อนัยทางคุณค่าในการสืบทอด ที่คนรุ่นก่อน มีความคาดหวังอะไรที่ได้สื่อสารเพื่อการสืบทอดในสิ่งเหล่านี้ออกมา

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ไม่ควรต้องละเลยต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านนิทานชาดกนอกณิบาต เพราะถึงจะเป็นเรื่องเล่า เรื่องแต่ง แต่องค์ประกอบที่เป็นสภาพแวดล้อมในการสื่อสารที่ถูกเอ่ยถึงในการเล่าเรื่องนั้น เป็นสภาพทางธรรมชาติ เป็นสภาพทางสังคม และเป็นสภาพทางความเชื่อในยุคนั้น เขาจึงสื่อสารออกมาอย่างนั้น การสังเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี จึงต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อกาตีความและสื่อความหมายให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจและเห็นคุณค่า