In Thailand

สาหร่ายผักกาดทะเลพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ศูนย์วิจัยฯพังงาชี้เหมาะคนที่รักสุขภาพ



พังงา-ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา นางอาภรณ์ เทพพานิช ผอ.ศูนย์ฯนำผู้สื่อข่าวชมการสาหร่ายผักกาดทะเล พืชน้ำชนิดใหม่ที่ทางศูนย์ฯ ได้นำต้นพันธุ์มาทดลองเลี้ยงในโรงเรือนของศูนย์ฯ และพบว่าสาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ภายใน 3-4 สัปดาห์ สามารถนำมาบริโภคได้ จึงนำมาแปรรูปเป็นสาหร่ายผักกาดทะเลชุบแป้งทอดกรอบ (เทมปุระ) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทดลองรับประทานในงานประเพณีปล่อยเต่า ซึ่งได้ความสนใจและรับคำชื่นชมจากผู้ที่ได้ลิ้มชิมรส ว่ารสชาติดี อร่อยมาก

นางอาภรณ์ เทพพานิช  กล่าวว่า สาหร่ายผักกาดทะเล หรือ sea lettuce อยู่ในกลุ่มสาหร่ายสีเขียว ลักษณะคล้ายผักกาด พบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป สำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล ทางกรมประมงได้ดำเนินการมานานโดยศูนย์ฯ เพาะเลี้ยงชายฝั่งเพชรบุรี และปัจจุบันได้ขยายการเพาะเลี้ยงออกไปในหลายพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายผักกาดทะเล มีการพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย  ในพื้นที่จังหวัดพังงา ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้จักสาหร่ายชนิดนี้มากนัก โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นอาหารยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นศูนย์ฯ จึงนำต้นพันธุ์มาทดลองเลี้ยงในโรงเรือนของศูนย์ฯ พบว่าสาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ภายใน 3-4 สัปดาห์ สามารถนำมาบริโภคได้ 

สาหร่ายผักกาดทะเลสามารถเก็บในรูปของสาหร่ายแห้งได้นานโดยคุณค่าทางโภชนาการคงเดิมและสามารถทำได้หลากหลายเมนู เช่น เทมปุระ แกงจืด ผัด ทำน้ำสาหร่าย สาหร่ายผงโรยในอาหารเหมือนกับสาหร่ายญี่ปุ่น ข้าวเกรียบสาหร่าย เส้นหมี่ เป็นต้น และยังใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางได้อีกด้วย ในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการ พบว่ามีคุณค่าโปรตีน คาร์โบไฮเครต สูง ไขมันต่ำ เหมาะเป็นอาหารสุขภาพในอนาคตได้เป็นอย่างดี นับเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง เพราะปัจจุบันราคาการจำหน่ายสาหร่ายสดในท้องตลาดประมาณ 300-500 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่สนใจที่จะนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพ สามารถติดต่อเพื่อมาเรียนรู้กับทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงาได้เลย