In Thailand
ซอยด๊อกร่วมเครือข่ายช่วยสัตว์จรทั่วไทย หารือจัดการประชากรสุนัข-แมวจรจัด
กรุงเทพฯ-เมื่อวันที่ 25 มีนาคม มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด๊อก) ร่วมกับ Dogs Trust Worldwide และหน่วยงานภาคีเครือข่ายช่วยเหลือและพัฒนาสวัสดิภาพชีวิตสัตว์จรจัดจากทั่วประเทศไทย จัดงานประชุมเพื่อหารือการจัดการประชากรสุนัขและแมวจรจัด ยกโมเดล CNVR ทำหมันฉีดวัคซีนและให้สัตว์ได้อยู่ในพื้นที่เดิมสามารถแก้ปัญหาสัตว์จรจัดได้เห็นผลจริง
นายสัตวแพทย์ตันติกร รุ่งพัฒนะ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการประชากรสุนัขและแมวประเทศไทย ได้นำเสนอผลจากการดำเนินโครงการทำหมันและฉีดวัคซีนหรือ CNVR (จับ, ทำหมัน, ฉีดวัคซีน, ปล่อยกลับสู่ถิ่นเดิม) ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2566 ซึ่งได้ทำหมันสัตว์ไปแล้วกว่า 500,000 ตัว พบผลสัมฤทธิ์หลายประการอาทิ การลดลงของการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ความหนาแน่ของสุนัขจรจัดที่ลดลง ช่วยลดจำนวนสุนัขแม่ลูกอ่อน สุนัขที่มีปัญหาผิวหนังหรือร่างกายซูบผอม และยังพบว่าในพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการทำหมันอย่างต่อเนื่องจะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่พักอาศัยและสุนัขดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งการดำเนินงานหน่วยทำหมันเคลื่อนที่ของซอยด๊อกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับการสนับสนุนงบประมาณครึ่งหนึ่งจาก Dogs Trust Worldwide หน่วยงานด้านสวัสดิภาพสัตว์จากสหราชอาณาจักร
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพ และการสร้างชุมชนปลอดภัย ตั้งแต่การผลักดันปรับปรุงร่างข้อบัญญัติการควบคุมการเลี้ยงและปล่อยสัตว์มีเจ้าของในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงการหาบ้านใหม่ให้แก่สัตว์จรจัด ด้านคุณเก๋ ชลลดา เมฆราตรี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเดอะวอยซ์ (เสียงจากเรา) แสดงความคิดเห็นว่าเดอะวอยซ์สนับสนุนโครงการทำหมันสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการลดปัญหาสัตว์จรจัดและยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์เหล่านี้ให้ดีขึ้น
ภายในงานยังมีการนำเสนอข้อมูลความสำเร็จในการจัดการโรคพิษสุนัขบ้าและการควบคุมประชากรสัตว์ในประเทศไทย จากหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกัน ควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ อาทิ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร, สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์, กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
งานประชุมครั้งนี้ยังร่วมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่ร่วมมือกับซอยด๊อกในการจัดการประชากรสัตว์จรจัดจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย, บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน), สำนักงานปศุสัตว์ จ.นนทบุรี, สำนักงานปศุสัตว์ จ.สมุทรสาคร, สำนักงานปศุสัตว์กรุงเทพฯ, สำนักงานปศุสัตว์ จ.สมุทรปราการ, the International Companion Animal Management Coalition(ICAM), Four paws foundation, Lanta animal welfare, WFFT/PAT Clinic, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนครปฐม, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสมุทรปราการ, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นฉะเชิงเทรา, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนนทบุรี, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นปทุมธานี, อบต.ทวีวัฒนา, อบต.บางพลีใหญ่, อบต.ศีรษะจระเข้น้อย, อบต.สวนส้ม, อบต.อำแพง, เทศบาลบางพลีน้อย, เทศบาลคลองโยง, เทศบาลบ้านแพ้ว, เทศบาลหลักห้า, เทศบาลบางพลีน้อยและกองทุนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลักห้า
โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมในการประชุมทุกแห่งพร้อมเดินหน้านำข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของโครงการทำหมันฉีดวัคซีน CNVR ไปพัฒนาและปรับให้มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป