In Bangkok

กทม.แนะกลุ่มเสี่ยง-ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ดูแลรักษาสุขภาพป้องกันโรคลมแดด



กรุงเทพฯ-นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงมาตรการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล.ร่วมกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา สำนักการโยธา และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดทำแผนการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 และดำเนินมาตรการเชิงรุกเน้นย้ำและให้คำแนะนำแก่ประชาชนทุกกลุ่มเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแจ้ง ตลอดจนบุคลากรของ กทม.ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งอย่างใกล้ชิด เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย พนักงานในสวนสาธารณะที่ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวของ กทม.ในช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนทุกวัน

สำหรับสวนสาธารณะของ กทม.ทั้ง 51 แห่ง ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ข้อมูลความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) พร้อมจัดหน้าที่ตรวจตราและสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผู้ที่มาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนันทนาการกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลากลางวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมแจ้งข้อแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และวิธีสังเกตอาการเพลียแดด ป้องกันผลกระทบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพจากภาวะอากาศร้อนในขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) รวมถึงวิธีสังเกตอาการและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม.โดยทีมโฆษกศูนย์และทีมประชาสัมพันธ์ของ สสล.ได้ประสานสำนักการแพทย์ เชิญแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัด กทม.มาให้ความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ในช่วงฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการพยากรณ์อากาศจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th และติดตามการแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน (HEAT INDEX) จากเพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร หากพบเหตุฉุกเฉินสามารถแจ้งสายด่วน 1669

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ความร้อนและสุขภาพ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อสารเตือนภัยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนและเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะโรคลมแดด หรือภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งประชาชนสามารถป้องกันตนเองโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ควรเลือกเวลาที่ทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ส่วนวิธีสังเกตอาการโรคลมแดด ขอให้ระวังหากเกิดอาการตัวร้อนจัด มีไข้สูงกว่า 40-41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก มีอาการโซเซ เป็นตะคริว รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง หรือเป็นลมหมดสติ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก และใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก แบ่งเป็น 2 กรณี คือ ผู้ป่วยที่หมดสติและไม่หายใจให้โทร.1669 หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและทำ CPR ผู้ป่วย ณ บริเวณนั้น กรณีผู้ป่วยยังสามารถหายใจได้ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มและคลายเสื้อผ้าของผู้ป่วยออก ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยผ้าเย็น หรือใช้การฉีดสเปรย์ เพื่อระบายความร้อนร่วมกับการเปิดพัดลม