Think In Truth

ส่อง..!'ประเพณีสงกรานต์'เป็นของใคร?  โดย : ฟอนต์ สีดำ



ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่พบได้ในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละประเทศมีรูปแบบการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกันไป ในบางกรณี ประเทศเหล่านี้อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในประเพณีสงกรานต์หรือกล่าวหากันว่าลอกเลียนแบบวัฒนธรรม สถานการณ์นี้สร้างความตึงเครียดและความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ประเทศไทยถือว่าสงกรานต์เป็นประเพณีสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของชาติ มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ ลาวมีประเพณีสงกรานต์ที่คล้ายคลึงกับไทย แต่มีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งคนลาวเรียกว่า “ปีใหม่ลาว” กัมพูชามีประเพณีสงกรานต์ที่เรียกว่า “โจลชนำทเม็ย” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทยและลาว แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะของกัมพูชา พม่ามีประเพณีสงกรานต์ที่เรียกว่า "ติงยาน" ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทย ลาว และกัมพูชา แต่มีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างกัน เวียดนามไม่มีประเพณีสงกรานต์ แต่มีประเพณีปีใหม่แบบดั้งเดิมที่เรียกว่า "เต๊ต" ประเพณีพัวสุ่ยเจี๋ย ของชาวไทในสิบสองปันนา มีความคล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ของไทย ลาว และกัมพูชา พัวสุ่ยเจี๋ย(泼水节) แปลตรงตัวว่า "เทศกาลสาดน้ำ" ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า "สงกรานต์" ในภาษาไทย

การอ้างกรรมสิทธิ์ในประเพณีสงกรานต์กลายเป็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อองค์การยูเนสโก้ (UNESCO) ได้เปิดให้มีการจดทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ การอ้างสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของทางวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์จึงเกิดขึ้น และเพิ่มความรุนแรงในการแย่งชิงในกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งในการชิงความเป็นกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียอาคะเนย์ เพราะประเทศไทยได้ปฏิบัติประเพณีสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่องและสร้างความรู้จักกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่า ประเพณีสงกรานต์ไทยเป็นประเพณีที่มีความสนใจของคนทั้งโลกที่อยากเดินทางมาเข้าร่วมเล่นสงกรานต์ที่เมืองไทย

ประเพณีสงกรานต์ไม่ได้มีการเล่นสงกรานต์กันอยู่แต่ประเทศไทย หากแต่ประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียอาคะเนย์ก็มีประเพณีสงกรานต์กันอยู่ทุกประเทศ เมื่อประเทศไทยแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม และจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จึงส่งผลต่อความไม่พอใจกับประเทศรอบข้างที่มีประเพณีสงกรานต์ที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเหมือนกัน ประเทศกัมพูชาที่เคยใช้ชื่อ “โจลชนำทเม็ย” ก็หันกลับมาใช้ชื่อวันสงกรานต์เหมือนกับประเทศไทย เพราะชื่อ “โจลชนำทเม็ย” นั้นไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรือแม้แต่ในประเทศเมียนก็เช่นกันก็มีการเล่นสาดน้ำในประเพณี "ติงยาน" กันเหมือนกัน ซึ่งในประเทศเมียนมาเอง มีการเล่นสาดน้ำกันเป็นเวลายาวนานกว่าทุกๆ ประเทศในแถบเอเชียอาคะเนย์ ซึ่งบางพื้นที่ก็เรียกว่าวันไหล ซึ่งคล้ายๆ กับประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญที่พระประแดง จังหวัดสมุทร์ปราการ ก็เรียกว่าวันไหลเช่นกัน

โดยทั่วไปแล้วประเทศไทยจะยึดเอาวันที่ 13-15 เมษายน เป็นเทศการสงกรานต์โดยพร้อมกัน แต่ด้วยในช่วงวันสงกรานต์ คนไทยถือว่าเป็นวันแห่งครอบครัวด้วย ซึ่งลูกๆ หลานที่ออกจากบ้านไปทำงานในต่างพื้นที่ก็จะกลับมาบ้านเพื่อทำพิธีรดน้ำดำหัวพ่อแม่ พี่น้อง ญาติที่เคารพ เมื่อลูกหลานกลับบ้านก็จะไม่ได้เดินทางกลับมือปล่าว ก็จพร่วมกันจัดทำกองผ้าป่าไปถวายเป็นการกุศล เพื่อร่วมกับกิจกรรมทางวัดวัดในการพัฒนาสาธารณะประโยชน์ จึงกลายเป็นประเพณีในการจัดงานต้อนรับคณะผ้าป่าที่เดินทางกลับบ้านของลูกหลาน ถ้าหากมีการจัดงานพร้อมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ก็จะส่งผลต่อการเข้าร่วมงานของลูกหลานในเครือญาติในชุมชนใกล้เคียงกัน จึงเกิดการจัดงานฉลองเนื่อในวันสงกรานต์เหลื่อมวันออกไป เมื่อเกิดความนิยมในการจัดงานรื่นเริงในวันสงกรานต์มากขึ้น การกำหนดวันจัดงานเหลื่อมกัน เพื่อไม่ให้ตรงกัน จึงกลายเป็นที่มาของวันไหลในความเข้าใจของคนไทย วันไหลหลังวันสงกรานต์มีการจัดงานออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษยน

ประเพณีโจลชนำทเม็ย ในกัมพูชาน่าจะได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย ปัจจัยหลักคือ ศาสนาพุทธ ประเพณีดั้งเดิม และ วัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะประเพณีสาดแป้ง หรือเทศกาลโฮลี่ เพราะกัมพูชา มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมอินเดียมาก จากการที่กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู ซึ่งนำเข้ามาเผยแผ่โดยชาวอินเดียหรือคนในแถบเอเชียอาคะเนย์เรียกว่าแขกจาม และในบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เสียมเรียบ หรือสยามลุ่มประเพณีสงกรานต์วัฒนธรรมไทยมีอิทธิพลต่อประเพณีโจลชนำทเม็ย

ประเพณี “ติงยาน” ในเมียนมา ชาวเมียนมาเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันเพ็ญเดือน 7 ประเพณีติงยาน จึงเป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้า ประเพณีติงยาน มีรากฐานมาจากประเพณีดั้งเดิมของชาวพม่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูฝน และการเริ่มต้นฤดูใหม่ การสาดน้ำก็ได้รับอิทธิพลจากการสาดแป้งในเทศกาลโฮลี่ในอินเดีย แต่ด้วยเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ซึ่งลดการถูกเนื้อต้องตัวของพระภิกษุในการรักษาไว้ซึ่งพรหมจรรย์ จึงเปลี่ยนมาเป็นการสาดน้ำแทน

ชาวไทในสิบสองปันนา เชื่อกันว่า น้ำเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และ โชคลาภ การสาดน้ำ เป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดี และ อวยพรให้ปีใหม่มีความสุข การสาดน้ำในประเพณีพัวสุ่ยเจี๋ย(泼水节) เป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดี และ อวยพรให้ปีใหม่มีความสุข ชาวสิบสองปันนาเชื่อกันว่า ประเพณีพัวสุ่ยเจี๋ย มีต้นกำเนิดมาจากตำนานพญานาค ตำนานเล่าว่า พญานาคจะขึ้นมาจากน้ำเพื่อเล่นน้ำในช่วงเดือน 6 ชาวไทจึงจัดประเพณีพัวสุ่ยเจี๋ย เพื่อสักการะพญานาค และ ขอพร น้ำที่ใช้สรงน้ำพระในประเพณีพัวสุ่ยเจี๋ย เชื่อกันว่าเป็นน้ำมนต์จากพญานาค น้ำมนต์นี้ จะช่วยชำระล้างสิ่งไม่ดี และ นำโชคลาภมาสู่ผู้คน

แต่สงกรานต์ในประเทศไทยมีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ว่า ท้าวกบิลพรหม เล่าว่า ท้าวกบิลพรหมพนันกับธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ 7 ขวบ เกี่ยวกับปัญหา 3 ข้อ ท้าวกบิลพรหมพ่ายแพ้และต้องตัดเศียรตนเองบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ด้วยความร้อนแรงของเศียรท้าวกบิลพรหม ธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมจึงต้องผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรเวียนประทักษิณเขาพระสุเมรุเพื่อป้องกันโลก โดยไม่ให้พระเศียรของกบิลพรหมร่วงหล่นลงมายังพื้นโลก ถ้าพระเศียรของท้าวกบิลพรหมร่วงหล่นลงมายังพื้นโลก จะทำให้เกิดไฟบรรลัยกันต์เผาไหมโลกให้ดับสูญ

ตำนานท้าวกบิลพรหมเป็นตำนานชาดกที่เป็นกุโลบายเพื่อให้สังคมไทยได้ถือปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ เนื่องจากประเพณีสงกรานต์เป็นจารีตหนึ่งในสิบสองจารีตในรอบปี ที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง” สงกรานต์ เป็นภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า “เคลื่อนย้าย” มาจากภาษาบาลี “สังกันตะ” ซึ่งแปลว่า “ก้าวไปข้างหน้า” ซึ่งในทางโหราศาสตร์ ให้ถือเอาวันที่โลกมีการเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งนักสัตว์หนึ่ง ไปยังปีนักสัตว์หนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยจะถือเอาวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันที่เปลี่ยนสังกันตะเทวี ในการอัญเชิญพานพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเพื่อประทักษิณรอบเขาพระสุเมร ซึ่งนางสังกันตะเทวีผู้ที่ถือพานอัญเชิญพระเศียรของท้ากบิลพรหมรอบเขาพระสุเมร จะเปลี่ยนคนมาถือพานคนใหม่ ก็ต่อเมื่ออัญเชิญรอบเขาพระสุเมรได้หนึ่งรอบ หรือหนึ่งปีนักสัตว์ ซึ่งในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 นี้ทุกคนจะทำการสรงน้ำพระ ทั้งพระภิกษุสงฆ์ และพระพุทธรูป รวมทั้งพระเครื่องของขลัง ในวันถัดมา เป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 5  เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ ทุกคนจะร่วมทำพิธีรดน้ำดำหัว พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติ พี่น้อง คนที่เคารพ วันถัดเป็นแรม 2 ค่ำเดือน 5 เป็นวันเนา คนหนุ่มคนสาวก็จะออกมาเล่นสาดน้ำกัน และในวันนี้เป็นวันที่สังคมอนุญาตให้คนหนุ่มคนสาวได้ถูกเนื้อต้องตัวกันได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมยอมของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และเลือกคู่ของคนหนุ่มสาวที่จะมีครอบครัวต่อไป แต่ทั้งสามวัน ในช่วงก่อนหัวค่ำ พระสงฆ์จะออกมานำขบวนในการแห่ขบวนดอกไม้ โดยให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของบ้านตักน้ำใส่ภาชนะมาวางไว้หน้าบ้าน เพื่อให้ขบวนที่แห่ดอกไม้ ซึ่งทุกคนจะมีดอกไม้ถืออยู่ในมือ ได้นำดอกไม้ที่ถือจุ่มลงในน้ำ เพื่อนำไปพรมสร้างความชุ่มเย็น แก่นคณะที่ร่วมแห่ขบวนดอกไม้และเจ้าของบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล และน้ำที่เหลือก็จะสาดเข้าไปในขบวนแห่เพื่อให้น้ำได้ราดลงพื้นดิน

การสาดน้ำในประเพณีสงกรานต์ เป็นการบูรณาการต่อวิถีชีวิตของคนในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงมาก เพราะเป็นการเพิ่มความชื้นในอากาศ ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยว ประเพณีสงกรานต์ จึงเป็นประเพณีที่เป็นวัฒนธรรมของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาที่ต้องทำนาตามฤดูกาล เพราะสิ้นประเพณีสงกรานต์ เข้าเดือนหก ก็จะเป็นประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งหลังจากที่เพิ่มความชื้นในอากาศแล้ว คนในหมู่บ้านก็จะรวมกันนำขี้ค้างคาวมาใส่ลางและเทน้ำแช่ไว้ แล้วค่อยๆ กรองน้ำออกมาต้ม จะได้ดินประสิว แล้วนำดินประสิวมาผสมกับผงถ่านไฟและผงซัลเฟอร์หรือกำมะถัน(ชาวบ้านเรียกมาด) แล้วนำไปกรอลงกระบอกไม้ไผ่ เจาะรู และผูกหางเป็นบั้งไฟ จุดขึ้นไปบนท้องฟ้า ให้เกิดควันของเกลือดินประสิว ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นในอากาศ กลายเป็นเม็ดฝน เมื่อเฝนตกแล้วในเดือนเจ็ด ชาวบ้านก็จะนำอุปกรณ์การเกษตรมาทำความสะอาด หรือประเพณีซำฮะ(ชำระ) และไถแรกนาขวัญ แล้วเดือนถัดๆ ไปก็จะเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการผลิตข้าว จะเวียนไปจนถึงเดือนสี่ ในปีถัดไปชาวบ้านก็จะทำการแปรรูปข้าวมาทำบุญ ที่เรียกว่า “บุญข้าวจี่” ศาสนาพุทธซึ่งมาทีหลังศาสนาผีก็จะเอาบุญผะเวส เข้ามาแจมด้วยเป็นงานเดียวกัน แล้วถึงเดือนห้าในปีถัดไป นางสังกันตะ ก็เปลี่ยนคนมาอัญเชิญพระเศียรของกบิลพรหมประทักษิณษิณรอบเขาพระสุเมรต่อไป

ประเพณีสงกรานต์ จะบอกว่าเป็นของประเทศไดนั้นคงยาก เพราะต่างก็ถือปฏิบัติกันมายาวนานอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าจะประเมินตามตำนานแล้ว ประเพณีสงกรานต์ น่าจะกำเนิดในประเทศไทยและ สปป.ลาว เพราะมีความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์สยาม ที่ผสมผสานกับศาสนาผี ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาก่อนศาสนาพุทธ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเพณีสงกรานต์ ถึงแม้นจะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งกำเนิดสงกรานต์ในประเทศไทยและ สปป.ลาว มีจุดประสงค์ในการดำรงวิถีทางการเกษตร และประเทศรอบข้างจะปฏิบัติเพื่อการบูชา สักการะ เพื่อความผาสุข โชคลาภก็ตาม การถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องของชาวอุษาคะเนย์ก็ไม่ควรที่จะแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของฝ่ายเดียว ซึ่งควรต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรมร่วม ที่ถือปฏิบัติร่วมกันมา จึงฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องนี้ด้วย