In News
นายกฯลุยเกาะสมุยดูท่าเทียบเรือสำราญ กำชับเร่งคมนาคมนำเข้าครม.ก่อนสิ้นปีนี้
สุราษฏร์ธานี-นายกฯ ติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กำชับกระทรวงคมนาคม นำเข้า ครม.ก่อนสิ้นปี 67 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวสุราษฎร์ฯ หลังจากนั้นนายกฯ รับฟังความต้องการชาวสวนทุเรียน อ.เกาะสมุย ย้ำทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมขจัดอุปสรรคให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน
วันนี้ (7 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาตรวจราชการ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเกาะสมุย) และจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 6 - 8 เมษายน 2567 เพื่อติดตามงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ภารกิจแรกของการตรวจราชการครั้งนี้ เวลา 10.30 น. นายกฯ ได้ติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ บริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจติดตามโครงการดังกล่าว
นายกฯ ได้รับทราบภาพรวมการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) จากอธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่มุ่งเน้นวางแผนพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อรองรับนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกาะสมุย โดยการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญเป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตสูง
สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) เป็นการลงทุนแบบ PPP มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญขนาดใหญ่ การยกระดับการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน จากผลการศึกษาโครงการของกระทรวงคมนาคม โครงการฯ มีขนาดพื้นที่รวม 47-38-6 ไร่ (1. พื้นที่บนชายฝั่ง มีขนาดพื้นที่รวม 15-1-23 ไร่ 2. พื้นที่นอกชายฝั่ง มีพื้นที่รวม 32-1-38 ไร่) มูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ รวม 12,172 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการฯ พ.ศ. 2568 - 2062 (โดยขั้นตอนและระยะเวลาการเสนอโครงการปี 2567 - 2570 ก่อสร้างปี 2570-2572 และให้บริการ 30 ปี ตั้งแต่ ปี 2572-2602) ทั้งนี้ ผลประโยชน์ โครงการฯ จะได้รับคือ สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 180,000 คนต่อปี รองรับเรือ Cruise 120 เที่ยวเรือต่อปี และนักท่องเที่ยวใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคน รวมรายได้จากการคาดการณ์รายได้ของโครงการตลอดระยะเวลาโครงการ มีมูลค่า 8,504 ล้านบาท สัดส่วนของรายได้โครงการแบ่งเป็นรายได้จากท่าเทียบเรือร้อยละ 91 ของโครงการและรายได้เชิงพาณิชย์ร้อยละ 9 ของโครงการ
ภายหลังการรับฟังโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ฯ และโครงการก่อสร้าง Cruise Terminal แล้ว นายกฯ กล่าวว่า หากดูตัวเลขสถิติเรือสำราญที่เข้ามา ปีนี้น่าจะเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสมุยสูงสุด พร้อมสอบถามถึงความต้องการของประชาชนชาวสมุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความต้องการที่่จะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในเกาะสมุยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และไม่มีประเด็นอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับคำตอบว่าผู้นำท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และประชาชน ต่างยินดีและสนับสนุนที่จะให้มีโครงการ Cruise Terminal เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนเกาะสมุยได้มากขึ้น
นอกจากนี้ นายกฯ ได้สอบถามจากการศึกษาโครงการนี้ มีผู้ให้ความสนใจมากน้อยเพียงใด โดยอธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวว่า มีผู้ประกอบการต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนเกี่ยวกับเรือ Cruise ที่สมุยด้วย รวมถึงบางกอกแอร์เวย์สก็มีความสนใจที่จะนำเรือกับเครื่องบินเชื่อมกันด้วย ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการที่อยากจะให้ทำมารีน่า และเครื่องบินทะเล (sea plane) ด้วย เพื่อให้เครื่องบินจากเกาะต่าง ๆ หรือเกาะบริเวณใกล้เคียงบินมาลงจอดได้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการอย่างครบวงจร โดยการดำเนินการที่นี่่เพื่อยกระดับเกาะสมุยให้เป็นระดับโลกจริง ๆ โดยขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยกระดับเกาะสมุยให้เป็นระดับโลกด้วยการตั้ง KPI ให้เป็น Top10 ของโลก พร้อมกำชับกระทรวงคมนาคม นำโครงการ Cruise Terminal เข้า ครม.ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวสุราษฎร์ฯ ต่อไป
จากนั้น นายกฯ และคณะเดินทางต่อไปที่แปลงทุเรียนสาธิตสวนทุเรียนนายชัยณรงค์ ทองสุข อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ผู้ปลูกทุเรียนใน ต.หน้าเมือง อ.เกาะสมุย
นายกฯ รับฟังความต้องการชาวสวนทุเรียน อ.เกาะสมุย ย้ำทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมขจัดอุปสรรคให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับฟังปัญหาของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และเยี่ยมชมแปลงทุเรียนสาธิต ณ แปลงทุเรียนสาธิตสวนทุเรียนนายชัยณรงค์ ทองสุข อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย เพื่อเข้ากระบวนการพัฒนาตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยพัฒนาความรู้ในการปลูกและดูแลทุเรียนให้มีคุณภาพ สามารถยกระดับความรู้ พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และมีการนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการแปลงได้อย่างเหมาะสม น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
นายกฯ ได้รับทราบประเด็นปัญหาและความต้องการจากผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย เช่น ความต้องการสะพานข้ามเกาะ เพิ่มเที่ยวเรือเพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่ง ปัญหาเรื่องที่ดิน ปัญหาแหล่งน้ำและไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมสวนทุเรียนในวันนี้ รัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญของทุเรียนซึ่งทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของเรา สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและเกษตรกรอย่างมหาศาล สำหรับกรณีการขอให้มีการเพิ่มเที่ยวเรือนั้น นายกฯ มอบกรมเจ้าท่าศึกษาการเพิ่มเที่ยวเรือเพื่อ ท่าเรือ แก้ปัญหาการขนส่งทุเรียน และมอบเทศบาลนครเกาะสมุย ดูแลเรื่องถนนและไฟฟ้า ส่วนการก่อสร้างสะพานนั้น ต้องขอเวลาศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลพร้อมส่งเสริมทุเรียนและมังคุด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และพร้อมจะขจัดอุปสรรคทีละเรื่องตามงบประมาณ ตามความถูกต้อง เพราะฉะนั้นขอให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมั่นใจ
สำหรับสถานการณ์การปลูกทุเรียน ที่จัดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออกสูงสุด สามารถสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอําเภอเกาะสมุยการทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพรองจากภาคการท่องเที่ยว พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณภูเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ อาศัยน้ำฝน และแหล่งน้ำจากธรรมชาติในการบริหารจัดการผลผลิต ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกทุเรียนและปริมาณการผลิต อำเภอเกาะสมุยมีพื้นที่ปลูกทุเรียน จำนวน 13,713 ไร่ จำนวน 1,517 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ ตำบลหน้าเมือง จำนวน 4,618 ไร่ จำนวน 463 ครัวเรือน รองลงมา คือตำบลแม่น้ำ จำนวน 2,618 ไร่ จำนวน 254 ครัวเรือน ตำบลมะเร็ต 2,069 ไร่ จำนวน 196 ครัวเรือน ตำบลอ่างทอง จำนวน 1,525 ไร่ จำนวน 196 ครัวเรือน ตำบลตลิ่งงาม จำนวน 1,425 ไร่ จำนวน 167 ครัวเรือน ตำบลลิปะน้อย จำนวน 1,172 ไร่ จำนวน 193 ครัวเรือนและตำบลบ่อผุด จำนวน 286 ไร่ 48 ครัวเรือน ตามลำดับ ผลผลิตปัจจุบันประมาณ 30,000 ตัน มูลค่า 5,000 ล้าน และเชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ผลผลิตและมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอย่างอย่างแน่นอน