In News
ภารกิจนายกฯลงพื้นที่ตรวจงานเมืองคอน สักการะสิ่งศักดิ์-รับฟังปัญหายางพารา
นครศรีธรรมราช-นายกฯ รับฟังประเด็นปัญหายางพารา จากเกษตรกรสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช ย้ำรัฐบาลจะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนภาคใต้ ผ่านมิติภาคเกษตรและท่องเที่ยว ด้านเกษตรกรขอบคุณรัฐบาล ที่ทำให้ราคายางพาราสูงกว่า 90บ./กก. ก่อนหน้านี้นายกฯ สักการะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสตรวจราชการ จ.นครศรีธรรมราชและ สักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ห่มผ้าพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ชมบูธผลิตภัณฑ์ OTOP ของดี Soft Power จ.นครศรีฯ ชิมแกงไตปลาการันตีความอร่อย เมื่อวานที่ผ่านมาก่อนเดินทางต่อมายังนครศรีธรรมราช นายกฯ ประชุมหารือบูรณาการ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งเป้าเกาะสมุยต้องขยับขึ้นไปอยู่ใน TOP10 เกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก เผยจะกลับมาเยือนเกาะสมุยอีกครั้งในช่วงปลายปี ขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น
วันนี้ (8 เม.ย. 67) เวลา 10.30 น. ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางฉลอง น้ำขาวพัฒนา จำกัด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือประเด็นยางพาราและผลผลิตทางเกษตร นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
เมื่อนายกฯ เดินทางมาถึงได้ไป ณ โรงรมยาง เพื่อดูกระบวนการรับน้ำยาซึ่งรับจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน รวมทั้งรับฟังการดำเนินโครงการ Rubber Authority of Thailand จากนั้นได้พบปะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ และหารือประเด็นยางพาราและผลผลิตทางเกษตร
โดยประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในนามเครือข่ายสถาบันฯ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยผลักดันให้ราคายางสูงถึง 90 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้สินก็ด้วยรัฐบาลนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว ขอให้สู้ต่อไป พร้อมกันนี้ได้เสนอประเด็นหารือที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุปสรรคสำคัญ อาทิ 1. โครงการการขอสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยางพาราที่หมดอายุไปตั้งแต่ 31 มีนาคม 2567 ขอให้นำเข้าเสนอ ครม.พิจารณาด้วย 2. โครงการใช้งานยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 3. วาระกรรมการ กรณีประธานฯ เพื่อให้การบริหารงานสหกรณ์เดินหน้าต่อไปได้ เป็นต้น
โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวทักทายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกล่าวว่าวันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาดูขั้นตอนกระบวนการในการผลิตยาง ดีใจที่ได้มา เพราะตั้งใจจะมาอยู่แล้ว แม้จะรับทราบว่าราคายางราคาดีแล้ว แต่ก็อยากมารับฟังโดยตรงจากเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อมาดูว่าจะมีแนวทางใดที่จะทำให้ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่า รัฐบาลตั้งใจจริงที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ทุกคน ที่ไม่เพียงแต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรต่าง ๆ ทั้งน้ำมันปาล์มและยางพารา ซึ่งในเรื่องยางนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่คุมการผลิต 30% ของยางพาราทั่วโลก เพราะฉะนั้นเรื่องของการสกัดกั้นยางเถื่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และฝ่ายความมั่นคง ได้ช่วยกันทำงานสกัดกั้นยางเถื่อนที่จะเข้ามา ตรงนี้สามารถส่งสัญญาณไปให้ทั่วโลกได้รู้ว่าเราไม่มียางเถื่อน ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจำนวน Supply ในตลาดจะน้อยลงไป ก็จะทำให้ราคายางสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังมีผู้ที่ทำผิดอยู่ เราต้องทำงานกันอย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่องต่อไป และจะพยายามทำให้ราคายางดีต่อไป
สำหรับสถานการณ์การผลิตยางพาราของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ข้อมูลสำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนครศรีธรรมราชระบุว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการปลูกยางมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองจากสุราษฎร์ธานี โดยมีพื้นที่ปลูก จำนวน 1,598,306ไร่ (แยกเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 1,281,598 ไร่ พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 316,708 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 145,145 ราย มีคนกรีดยาง จำนวน 27,262 ราย) พื้นที่เปิดกรีดแล้ว จำนวน 1,485,544 ไร่ ปริมาณผลผลิต จำนวน 319,060 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 214 กิโลกรัม/ไร่/ปี พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ RRIM 600 พื้นที่ปลูกยางมาก 5 อันดับแรก คือ ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ ชะอวด บางขัน และฉวาง ตามลำดับ โดยสถานการณ์การผลิต ปี 2567 พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของยางพาราลดลงจากปี 2566 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากแล้วปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่าง ๆ ในส่วนของพื้นที่กรีดได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้ ส่วนผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีวันกรีดเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่กรีดได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ในด้านราคาในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 - 2566 ราคาขยับสูงขึ้น (ยางแผ่นดิบ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ตั้งแต่ปี 2562-2566 ราคาท้องถิ่นเฉลี่ย 48.29 บาท/กก.) โดย ปี 2567 (มกราคม - มีนาคม) ยางแผ่นดิบราคาท้องถิ่นเฉลี่ย 70.53 บาท/กก. และราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา หาดใหญ่ เฉลี่ย 74.23 บาท/กก. เช่นเดียวกับยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ที่มีราคาสูงขึ้น ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา หาดใหญ่ เฉลี่ย 77.6 บาท/กก.
นายกฯ สักการะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสตรวจราชการ จ.นครศรีธรรมราช
นางรัดเกล้า อิทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ช่วงเวลา 11.20 น. ณ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สักการะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อความเป็นสิริมงคลในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเมื่อนายกฯ เดินทางถึงศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ได้จุดธูป เทียน สักการะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งร่วมพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชและผูกผ้า 3 สี โดยมีพราหมณ์เป็นเจ้าพิธี
สำหรับศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานหลักเมือง ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมืองซึ่งออกแบบให้มีลักษณะคล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่า ทรงเหมราชลีลา ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลัง ถือเป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่า ศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมืองและศาลพรบันดาลเมือง ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2542 องค์เสาหลักเมืองทาด้วยไม้ตะเคียนทองที่ได้มาจากภูเขายอดเหลืองอันเป็นภูเขาลูกหนึ่ง ในทิวเขานครศรีธรรมราช ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พักตร์)
นายกฯ สักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ห่มผ้าพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ชมบูธผลิตภัณฑ์ OTOP ของดี Soft Power จ.นครศรีฯ
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อ 7 เม.ย. 67นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 1098 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกฯ ได้สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ พระครูบ้านคู่เมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนสักการะพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พร้อมกับห่มผ้าพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นนายกฯ นมัสการพระธรรมวชิรากร เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และพระราชวิสุทธิกวี (ไมตรี ปภารตโน) เจ้าคณะภาค 16 ด้วย
พร้อมกันนี้ นายกฯ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ บูธแสดงผลงานนครศรีธรรมราช การขึ้นทะเบียนพระธาตุมรดกโลก การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สินค้า OTOP ของดีนคร กางเกงลาย “วัวชน” โดยผู้ประกอบการได้มอบกางเกงลายวัวชนให้นายกฯ ด้วย ทั้งนี้ นายกฯ ได้เยี่ยมชมอาหารใต้ เช่น แกงไตปลา Soft Power อาหารปักษ์ใต้ นครศรีธรรมราช โดยนายกฯ ได้ชิมขนมจีนแกงไตปลานครพร้อมการันตีความอร่อย
สำหรับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเดิมเรียกว่าวัดพระบรมธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร และมีอายุการก่อสร้างเก่าแก่ โดยมีความสำคัญทางศาสนามาแต่โบราณ อีกทั้งมีโบราณสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีและศาสนา รวมทั้งยังเป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมิ่งขวัญชาวเมืองนครศรีธรรมราชตลอดจนพุทธศานิกชนทั้งหลาย โดยสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เนื่องจากเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
นายกฯ ประชุมหารือบูรณาการ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งเป้าเกาะสมุยต้องขยับขึ้นไปอยู่ในTOP10
ก่อนทางต่อยังจังหวัดนครศรีธรรมราช นายกฯได้ประชุมการหารือเพื่อพิจารณาประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะประชาชน และเยี่ยมชมนิทรรศการสินค้า OTOP พร้อมประชุมหารือบูรณาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อพิจารณาประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ น้ำประปา การบริหารจัดการขยะ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติสมุย และการขยายถนนรอบเกาะสมุย (โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุย ตอน บ.หัวถนน - บ.เฉวง) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
เมื่อเดินทางถึงสำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย นายกฯ ได้ทักทายประชาชนและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วยความเป็นกันเอง และได้เดินเยี่ยมชมบูธ OTOP ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ผ้าลายเกาะสมุย การปลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์กะลาและไม้มะพร้าวตำบลตลิ่งงาม เป็นต้น จากนั้น นายกฯ ได้รับทราบรายงานปัญหาและแนวทางการแก้ไขในพื้นที่เกาะสมุยและรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน
นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ วันนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะสมุยครั้งแรก โดยเกาะสมุยเป็นเกาะที่มีศักยภาพ ได้รับการจัดอันดับเป็นเกาะที่ได้รับความนิยมของโลก TOP20 ในทุก ๆ รายการที่มีการจัดอันดับเมืองน่าท่องเที่ยว แต่การมาเกาะสมุยครั้งนี้มารับฟังปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกาะสมุยสามารถเดินทางไปถึงศักยภาพ ซึ่งตนได้ให้ตัวชี้วัด KPI ไปแล้วกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า เกาะสมุยต้องขยับขึ้นไปอยู่ใน TOP10 ในเกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก แต่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหลายอย่าง โดยปัญหาแรก คือ เตาเผาขยะ ซึ่งเตาเผาขยะสร้างมากว่า 20 ปีแล้วทำให้มีความชำรุดไม่สามารถเผาขยะได้ ส่งผลให้เกิดปริมาณสะสมของขยะในเกาะสมุยถึง 300,000 ตัน โดยมีการนำเข้าไปบริหารจัดการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งทางเกาะสมุยได้ของบกลางประมาณ 237 ล้านบาท เพื่อที่จะขนกลับไปและทำลายถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ นายกฯ รับทราบปัญหา พร้อมยืนยันจะจัดการปัญหาขยะให้ โดยขยะ 150,000 ตันนี้จะต้องถูกบริหารจัดการไป จะด้วยวิธีการฝังหรือว่าขนออกไปก็ตาม ถือว่าเป็นปัญหาระยะสั้นของการจัดการเรื่องของขยะ อย่างไรก็ตามปริมาณขยะซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 150 ถึง 200 ตันต่อวันนั้นนับเป็นปริมาณขยะที่สูง ถ้าเกิดการพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือเกาะสมุยเป็นไปได้ตามที่เสนอมานั้น เชื่อว่าปริมาณขยะต่อวันในเกาะสมุยจะเพิ่มขึ้นเป็น 300 ตันต่อวัน เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีการขนออกไปไม่ได้ เพราะทุกเกาะบนประเทศไทยจะต้องมีการบริหารจัดการขยะในเกาะของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้จะต้องมีการแก้ปัญหาระยะยาว โดยการทำโรงเผาขยะซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถเผาขยะได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 ตันต่อวัน และอาจผสมผสานไปกับการผลิตไฟฟ้าจากขยะก็จะเป็นเรื่องที่ดีให้กับประชาชนชาวเกาะสมุย
นอกจากนั้น เรื่องถนนเป็นเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถ้าเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว มีคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาเยอะเพื่อเข้ามาซัพพอร์ตเรื่องการท่องเที่ยวนั้น เรื่องถนนถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการทางหลวงให้นำแผนงานที่เคยเสนอในอดีตนำกลับเข้ามาดูใหม่ แต่ต้องดำเนินการด้วยความละเอียดอ่อนและระมัดระวัง เพราะอาจกระทบกระเทือนกับประชาชนได้ เพราะมีเรื่องของการเวนคืนหรือการขออนุญาตพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการประสานงานของหลายหน่วยงาน แต่ขอให้มั่นใจว่าเราตระหนักดีว่าการที่จะยกระดับเกาะสมุยไปเป็นเกาะระดับโลกจะต้องมีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าเกษตร วันนี้ได้เยี่ยมชมสวนทุเรียนและได้รับการฟังบรรยายสรุปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญมากและเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งจะเป็นสินค้าใหญ่ที่จะสามารถสร้างรายได้กับเกษตรกร โดยเจ้าของสวนทุเรียนบอกว่าใน 1 ปีทุเรียนทำรายได้ถึง 5,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันทุเรียนของไทยได้รับความนิยมอย่างมากจากคนจีนและคนมาเลเซีย ทำให้เกษตรกรมีความสุข แต่ก็ต้องพบเจอกับปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนน ไฟฟ้า ซึ่งทางปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการพูดคุยและหาทางแก้ไขในเรื่องถนนและแหล่งน้ำ สำหรับเกาะสมุยมีพื้นที่เป็นเกาะ การขนส่งสินค้าเข้าเมืองจึงมีความยากลำบาก เพราะจำนวนเที่ยวของเรือมีน้อย โดยนายกฯ ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าขยายเวลาในการเดินเรือเพื่อเพิ่มจำนวนรอบของการเดินเรือให้มากขึ้น การขนส่งสินค้าจะได้ดีขึ้น อีกทั้งมีการเสนอเรื่องของมังคุดด้วย ซึ่งมังคุดของเกาะสมุยได้รับการชื่นชมว่าดีที่สุด ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งทุเรียนกับมังคุดเป็นราชาและราชินีของผลไม้ หากมีการบริโภคมากขึ้นเชื่อว่ามังคุดจะสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
นายกฯ กล่าวถึงเรื่องท่าเรือสำราญเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการใช้เรือเล็กเข้ามาซึ่งมีความยุ่งยากและอันตราย ถ้าเรามีท่าเรือก็จะสร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวและจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในเกาะสมุย ส่วนเรื่องการลงทุน เอกชนหลายรายให้ความสนใจกับการลงทุนท่าเรือนี้ อีกทั้งนายกฯ ได้เสนอให้มีเครื่องบินทางน้ำ เนื่องจากประเทศไทยมีเกาะที่สวยงามอยู่หลายเกาะทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันก็จะสามารถเดินทางได้หลากหลาย เพิ่มช่องทางการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับประชาชาวเกาะสมุยทุกคน ทั้งนี้ นายกฯ สั่งการให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงคมนาคมสัญญาว่าจะบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ก่อนสิ้นปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวเกาะสมุย
นายกฯ กล่าวต่อไปถึงข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องการลดดอกเบี้ยว่า ตนไม่อยากพูดต่อ เพราะเดี๋ยวสื่อจะไปตีฟูหาว่าพูดแล้วพูดอีก คิดว่าทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าการที่ดอกเบี้ยสูงนั้นเราเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยกันดูแลหน่อย เพราะทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน สำหรับเรื่องการเดินทางเข้าเมือง เรื่องของวีซ่า ประเภทวีซ่า เรื่องความสะดวกเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องความมั่นคงซึ่งตนได้เน้นย้ำกับรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในเรื่องมาเฟีย การบริหารจัดการเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง การขอขยายเวลาวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจต่าง ๆ ให้อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของชาวสุราษฎร์ธานีและชาวเกาะสมุย
นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการคมนาคมในส่วนของสนามบินว่า ได้มีการพูดคุยกับเอกชนเจ้าของสนามบินแล้ว ถ้าหากมีการขยายสนามบินได้ เรื่องคอขวดตรงนี้ก็จะหายไป ทำให้เกาะสมุยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อีกเยอะ ซึ่งจะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อีกมาก ทั้งเรื่องขยะ ประปา ไฟฟ้า และต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญและต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อทำให้มีจำนวนเที่ยวบินลงมาด้วย แต่ต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนชาวสมุยด้วยในเรื่องสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เพราะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน โดยจะพยายามช่วยกันทำต่อไป นอกจากนี้ ในเรื่องการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีว่าเกาะสมุยเป็น Top20 ของโลก แต่คนส่วนมากรู้จักสมุยในแง่ของทะเลสวย หาดทรายสวย รอยยิ้มที่เป็นมิตรภาพกับนักท่องเที่ยวทุกคน ตนเชื่อว่ายังมีสิ่งดีงามที่ซ่อนเร้นอยู่ในเกาะสมุยอีกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเชิงวัฒนธรรม เชิงศาสนา หรืออาหารการกิน ซึ่งได้ขอร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ว่า ททท. ว่าให้ช่วยกันทำงานให้หนักขึ้น และขุดเอาของที่นักท่องเที่ยวยังไม่เห็น ออกมาโฆษณาให้เยอะขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ไม่ใช่มาอยู่แค่ 2-3 วัน ให้มาอยู่ยาวขึ้น มาซึมซับวัฒนธรรม และเรื่องอาหารต่าง ๆ สิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ของเกาะสมุย
นายกฯ กล่าวในตอนท้ายว่า จะกลับมาเยือนเกาะสมุยอีกครั้ง มาดูความคืบหน้าในช่วงปลายปี ขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อทำท่าเรือสำราญกับเรื่องมารีน่า และ Sea plane terminal แล้ว ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ก็ควรจะให้เอกชนมาประมูลทำ Duty Free ด้วย เพราะการทำ Duty Free จะมีการนำผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นเมืองไปขายได้ ทำให้ทุกคนมีรายได้ที่สูงขึ้น