In News

ประกาศมาตรการป้องกันฝุ่นจิ๋วเชียงใหม่ และ6มาตรการของสธ.สู้ฝุ่นPM2.5



กรุงเทพฯ-โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประชาสัมพันธ์ประกาศ ข้อแนะนำมาตรการป้องกัน PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ และ 6 มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขสู้ฝุ่น PM2.5

วันที่ 8 เมษายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์กรณี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่เรื่องข้อแนะนำแนวทางมาตรการป้องกันและลดผลกระทบกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่อง โดยให้ดำเนินการ 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 - 11 เมษายน 2567 และกระทรวงสาธารณสุขได้ออก 6 มาตรการ ดูแลด้านสาธารณสุขสู้ฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

ประกาศ จังหวัดเชียงใหม่

1. ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งในระบบการทำงานที่บ้าน Work From Home มาใช้โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน
2. ขอความร่วมมือสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านอาหาร พิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศเป็นอันดับแรก
3. ขอความร่วมมือให้บริษัทห้างร้านสถานประกอบการพิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน Work From Home หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการของบริษัท
4. ขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยวปรับลดกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านขอให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกครั้ง
5. ขอความร่วมมือกลุ่มเปราะบาง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ลดหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน
6. ขอให้หน่วยงานของรัฐเปิดบริการห้องลดฝุ่นให้แก่ประชาชน
7. ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีการเรียนการสอน และไม่มีห้องลดฝุ่นพิจารณาหยุดการเรียนการสอน
8. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนสาธารณะในความดูแล พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่จะติดตามสถานการณ์และออกประกาศให้ประชาชนทราบในโอกาสต่อไป

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ออก 6 มาตรการ ดังนี้

1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขเฝ้าติดตามระวังสถานการณ์รายวัน เพื่อสื่อสารถึงประชาชนในการลดความเสี่ยงรับฝุ่น และออกให้ความช่วยเหลือ
2. สำรวจกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย ติดตามเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำและเฝ้าระวังผลกระทบ ทางสุขภาพ
3. เปิดคลินิกมลพิษ คลินิกมลพิษออนไลน์ และห้องจัดทำฝุ่นในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางเข้าใช้ลดความเสี่ยงการรับสัมผัสฝุ่น ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่มีห้องปลอดฝุ่นรวม 1,466 ห้องและยังมีห้องปลอดฝนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 416 แห่ง
4. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกให้ความรู้ และสนับสนุนหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง โดยพื้นที่เชียงใหม่แจกหน้ากากไปแล้ว 153,557 ชิ้น และทุกอำเภอยังได้เตรียมการสำรองเวชภัณฑ์ยา หน้ากากป้องกันฝุ่น สำหรับผู้ป่วยเพื่อพร้อมให้การสนับสนุนทันที
5. ถ่ายทอดความรู้การจัดทำมุ้งสู้ฝุ่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน
6. กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพเวชกรรมกำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดให้กับประชาชนในพื้นที่เพราะนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปอดระยะเริ่มแรกก่อนโรคจะลุกลาม
 
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยตระหนักดีว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยการดำเนินงานของรัฐบาลนั้น เป็นไปทางการป้องกัน ควบคุม และแก้ไข มีทั้งมาตรการระยะยาวที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคุมไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลก็สามารถทำให้จุด hot spot ลดลงได้อย่างมาก และแก้ไขดูแล ผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจะประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อออกมาตรการให้สอดคล้อง รองรับ และเป็นแนวทางที่ได้ผลสำเร็จสูงสุดต่อไป” นายชัย กล่าว