In News

นายกฯแถลงผลประชุมครม.ที่สำคัญวันนี้ 'คาสิโน-ปัญหาน้ำ-ฝุ่น-สารแคดเมียม'



กรุงเทพฯ-นายกฯ เผย ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ รองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ภูมิภาคเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก พร้อมมอบ กค.ศึกษาความเป็นไปได้การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย

วันนี้ (9 เมษายน  2567)  เวลา 11.20 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคลังเสนอ ให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ภูมิภาคเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก  โดยจะมีการแถลงข่าว ในช่วงบ่ายวันนี้ โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง

พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวถึงการยกเลิกใบตม. 6 ว่า จากเดิมที่มีการยกเลิกใบตม. 6 คนต่างด้าวที่จะเดินเข้าประเทศไทยที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ทำให้มีความต้องการในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมาก และไม่มีผลกระทบด้านความมั่นคง วันนี้ ครม. ได้ยกเว้นการกรอกใบตม. 6 เพิ่มอีก 12 จุดทั้งทางบก และทางน้ำเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567

นายกฯ กล่วต่อไปว่า ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ในการศึกษารายละเอียดถึงผลการพิจารณา การศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ entertainment complex เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ แล้วให้นำกลับมาเสนอต่อ ครม. ภายใน 30 วัน

นอกจากนี้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม แจ้งข้อสั่งการ/นโยบายแก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  สรุปสาระดังนี้

นายกฯ สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค เร่งทบทวนปรับแผนการผลิตน้ำประปา และพัฒนาโครงข่ายท่อส่งน้ำประปา ให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน รวมทั้งขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย โดยนายกฯ เห็นว่า ไทยกำลังเปิดต้อนรับการลงทุนและการท่องเที่ยว แต่ปัญหาขาดแคลนน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค ยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่สำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี เป็นต้น 

นายกฯ กล่าวขอให้ทุกภาคส่วนช่วยดูแลอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยในวันพรุ่งนี้ (10 เมษายน 2567) นายกฯ จะไปตรวจดูความเรียบร้อยของการเตรียมการรับมือการเดินทาง ณ สถานีขนส่งหมอชิต โดยขอให้
-กระทรวงคมนาคม (คค.) เตรียมความพร้อมการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และให้ คค. และ ตำรวจทางหลวง ร่วมกันวางแผน จัดเส้นทาง และระบายการจราจรให้มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบด้วย
-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สะอาดและพร้อมใช้งาน
-ให้ มท. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รณรงค์และดำเนินการเข้มงวด “ห้ามดื่มแล้วขับ” เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เตรียมความพร้อมช่วยเหลือดูแลผู้บาดเจ็บทางจราจร
 -ให้ มท. กก. และ สตช. อำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อยสถานที่จัดกิจกรรมในจุดต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในจุดเล่นน้ำ สถานที่ท่องเที่ยว และบ้านเรือน โดยสายด่วน 191 ต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่รับสายตลอดเวลา และแก้ปัญหาให้รวดเร็ว
-ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนและปฏิบัติงาน เพื่อช่วยกันดูแล อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยอย่างเต็มความสามารถ

นายกฯ ยังได้สั่งการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในกลุ่มเด็กนักเรียนและวัยรุ่น ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันออกมาตรการป้องกัน รวมถึงจัดให้มีมาตรการตรวจตราที่เข้มงวด โดยเฉพาะในสถานศึกษา และการจำหน่ายและใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน

ส่วนการแก้ปัญหาการเผาและฝุ่น PM2.5 ซึ่ง นายกฯ ได้กำชับให้ยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 โดยให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการทำงานผ่าน 9 มาตรการ ดังนี้
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยทหารในพื้นที่ ระดมกำลังลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบเผาป่าทุกกรณี 
2. มท. และ สตช. กำกับดูแลกวดขัน บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด 
3. ให้ มท. สั่งการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง ลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา 
4. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีฝุ่นละอองขนาเล็ก (PM2.5) และให้ประกาศ Work From Home (WFH) ตามความจำเป็น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ 
5. ให้ กษ. พิจารณาตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐ หากพบว่ามีการเผาในพื้นที่เกษตรของตนเอง 
6. ให้ กษ. เพิ่มความถี่การปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง โดยเร่งด่วน และร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ให้เพียงพอ เพื่อช่วยเหลือในการดับไฟป่า
7. ให้ สธ. จัดชุดเคลื่อนที่/หน่วยปฏิบัติการลงเยี่ยมบ้าน ดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง ทันที และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปาะปราง โดยเฉพาะเยาวชน และผู้สูงอายุ 
8. ให้สำนักงบประมาณ พิจารณาสนับสนุนงบกลางให้แก่จังหวัดให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤต ปี 2567 ตามความเหมาะสม และจำเป็นเร่งด่วน และ
9. กรณีหมอกควันข้ามแดน นายกฯ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ยกระดับความร่วมมือ และการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ยังมีการเผาป่าอยู่มาก ให้มีการลดการเผาป่าอย่างทันที เพิ่มศูนย์ Hotline ระหว่างกันในการแจ้งจุดเผาป่า ตั้ง KPI ที่ชัดเจน โดยในช่วงบ่ายวันนี้ จะมีการประชุมบูรณการการทำงานกำจัดไฟป่าของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี รมว. ทส. เป็นประธาน และจะมีการแถลงต่อไป

นายกฯ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการตรวจสอบการขนย้ายกากสังกะสีปนแคดเมียม โดยให้ครอบคลุมทั้งการหาข้อเท็จจริง ข้อบกพร่องในแต่ละขั้นตอนพร้อมหามาตรการแก้ไข และการกำกับการขนย้ายกากแคดเมียมที่ยึดอายัดไว้ ตลอดจนกากแคดเมียมที่เหลืออยู่ และการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ต้องดำเนินการจัดการให้ถูกต้อง และจะต้องเคลื่อนย้ายกลับไปยังหลุมฝังกลบต้นทางที่จังหวัดตากอย่างปลอดภัย

นายกฯ ยังกล่าวถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากปาล์มของไทยที่ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรในต่างประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดในการออกใบรับรองคุณภาพ (certification) ให้กับผลิตภัณฑ์ปาล์มของไทย รวมไปถึงน้ำมันปาล์มให้มีมาตรฐานที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตลอดจนขอให้มีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ (usage) จากการปลูกปาล์มให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า