In Bangkok
เปิด118จุดทั่วกรุงเล่นสงกรานต์เลือกได้ 'เปียกมาก-เปียกน้อย'กทม.เน้นปลอดภัย
กรุงเทพฯ-การแถลงข่าวการจัดงานสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำในเรื่องของความปลอดภัย เพราะหน้าที่เราคือสร้างความปลอดภัย สร้างความไว้ใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยจะดูแลให้ดีที่สุด เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่ทุกคนจะมีความสุขกัน หัวใจหลักคือการเคารพสิทธิคนอื่น ขอให้สนุกกันด้วยความสุภาพ ดูแลซึ่งกันและกัน และคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ไม่เล่นแป้ง ไม่เล่นปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่ดื่มสุราในที่สาธารณะ” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันนี้ (9 เม.ย. 67)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญของประเทศไทย และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ซึ่งในปีนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จัดงานอย่างเต็มรูปแบบมากถึง 118 จุด โดยมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย แบ่งออกเป็น “สงกรานต์สายวัฒนธรรม” (เปียกน้อย) ซึ่งจะเป็นการจัดงานสงกรานต์ตามประเพณี เน้นเรื่องของความเป็นสิริมงคล และ “สงกรานต์สายสนุก” (เปียกมาก) ซึ่งจะเป็นการจัดงานแบบเน้นความสนุกสนานและกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ
“ขอให้ติดตามข่าวสารให้ดี เพราะมีการปิดในถนนแต่ละเส้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน วางแผนให้ดีว่าจะไปเล่นน้ำที่จุดไหนบ้าง ลดการใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว และให้ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เพราะหาที่จอดยากและอาจไม่เพียงพอรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สำหรับพื้นที่จัดงานจะไม่ให้มีหาบเร่แผงลอยเข้ามา เพราะทำให้เกิดความฝืดในการเดิน และทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจะมีจุดตรวจก่อนเข้าพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนข้าวสาร ได้มีการติดตั้งเสาความปลอดภัย มีกล้อง CCTV มีตัวกระจายเสียงแจ้งเหตุ และมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อติดตามสถาณการณ์ ณ ห้องเจ้าพระยา และศูนย์ย่อยในพื้นที่ คือ สน.ชนะสงคราม รวมทั้งจะมีการทำความเข้าใจกับชุมชนใกล้บริเวณที่จัดงาน มีการจัดเจ้าหน้าที่ทั้งเทศกิจร่วมกับตำรวจดูแลด้านความปลอดภัยอย่างเข้มข้น เชื่อว่าปีนี้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการโปรโมตการท่องเที่ยวมากขึ้น และมีเรื่อง Free Visa ไทย-จีนด้วย” ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำ
สำหรับพื้นที่จัดงานที่เป็นจุดไฮไลต์สำคัญ มีดังนี้
• สงกรานต์สายวัฒนธรรม (เปียกน้อย) ได้แก่
สงกรานต์ลานคนเมือง ซึ่งจัดโดยกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน 2567 เวลา 10.00 - 22.00 น. กิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวง พิธีสวดพระปริตรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์ พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและการแสดงจากศิลปิน การละเล่นพื้นบ้าน และกิจกรรมรื่นเริงในรูปแบบงานวัด ลานกิจกรรมและการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมไทย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์ (Bangkok Brand) และของดี 50 เขต
Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดกิจกรรมมหาสงกรานต์ใหญ่ใจกลางเมือง ระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน 2567 ณ ถนนราชดำเนินกลาง บริเวณท้องสนามหลวง กิจกรรมประกอบด้วย การจัดขบวนพาเหรดรถสงกรานต์ Soft Power จากภูมิภาคต่าง ๆ มาร่วมสร้างสีสันหลากหลาย การแสดงทางวัฒนธรรมและการแสดงร่วมสมัย และลานกิจกรรม สงกรานต์ 5 ภาค รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสุดยอดของดี 76 จังหวัด กิจกรรมพิเศษสรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รดน้ำผู้สูงอายุ การจัดให้มีลานน้ำพุและการเล่นน้ำ
งานเทศกาลสงกรานต์ 2567 จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 12 - 15 เมษายน 2567 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กิจกรรมประกอบด้วย สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย การแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม การจัดงานสงกรานต์ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ขอนแก่น และสนับสนุนการจัดงานสงกรานต์ผ่านสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร 6 กลุ่มเขต
งาน Water Festival 2024 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ปีที่ 9 จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน 2567 จำนวน 5 วัด 5 คุ้งน้ำ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร, วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์, ท่ามหาราช, ท่ายอดพิมาน, ท่าสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ตลอดจนท่าศาลเจ้ากวนอูและคลองโอ่งอ่าง
งานเพลินสงกรานต์ อาหารย่านถิ่น ฟินการเงิน จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 20 เมษายน 2567 กิจกรรมประกอบด้วย การสรงน้ำพระสยามเทวาธิราชจำลอง กิจกรรม Workshop การจัดช่อดอกไม้บูชาพระ การจัดนิทรรศการด้านการเงิน การออกร้านจากชุมชนพื้นที่โดยรอบธนาคารแห่งประเทศไทย
งาน Siam Center Splashtastic Fun Fest จัดโดยสยามเซ็นเตอร์ ระหว่างวันที่ 1 - 30 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เขตปทุมวัน โดยชวนทุกคนเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสมจริงกับ Water Interactive Screen การนำเทคโนโลยี AI มาตกแต่งศูนย์การค้าฯ ในรูปแบบ 3D พร้อมชวนทุกคนมาเล่นน้ำบน Interactive Screen ไฮไลต์พิเศษเป็นการนำผลงานแฟชั่นฝีมือการออกแบบจากดีไซเนอร์ไทยและดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่นำผ้าบาติกภูมิปัญญาไทยมานำเสนอในแบบทันสมัยให้กับลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด
งาน Siam Paragon Ultrasonic Water Festival 2024 จัดโดย สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 9 - 16 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน นำศิลปินชื่อดังระดับโลก Philip Colbert ชาวอังกฤษ ซึ่งมีผลงานด้าน งาน Pop Art รูปแบบใหม่มาออกแบบตกแต่ง Summer Decoration สุดพิเศษในประเทศไทย ครั้งแรกที่คนไทยได้ร่วมสัมผัสและร่วมสนุกไปกับผลงานของศิลปินระดับโลก การแสดงจากศิลปินชื่อดัง พร้อมด้วยดนตรีจาก JOOX Music Streaming Application
งาน THE MALL LIFESTORE SUMMER-CATION SONGKRAN FESTIVAL จัดโดยเดอะมอลล์กรุ๊ป จัดกิจกรรม Workshop ร่วมสนุกเล่นเกม การแสดงดนตรี กิจกรรมเด็ก และจำหน่ายของเล่นเด็ก การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่วันที่ 11 - 16 เมษายน 2567 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์ สาขาบางแค, สาขาบางกะปิ, สาขาท่าพระ
งาน Thailand Songkran Festival 2024 สงกรานต์มหาบันเทิง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วไทย จัดโดยเซ็นทรัลพัฒนา ปักหมุด 9 แลนด์มาร์กทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 2 - 21 เมษายน 2567 จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน, เซ็นทรัลพระราม 2 เขตบางขุนเทียน, เซ็นทรัลพระราม 3 เขตยานนาวา, เซ็นทรัลพระราม 9 เขตห้วยขวาง, เซ็นทรัลอีสต์วิลล์ เขตลาดพร้าว, เซ็นทรัลรามอินทรา เขตบางเขน, เซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร, เซ็นทรัลบางนา เขตบางนา, เอสพลานาดรัชดา เขตดินแดง โดยมีกิจกรรมไฮไลต์ อาทิ เทศกาลไทยมหาบันเทิง โชว์เคส UNESCO มรดกโลกวัฒนธรรมไทยที่หาชมยาก เทศกาลสุขมหาบันเทิง กิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย เทศกาลดนตรีและสาดน้ำมหาบันเทิง ฯลฯ
งานประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ ปีที่ 82 พุทธศักราช 2567 จัดโดย สมาคมการกีฬาและนันทนาการผู้สูงอายุ (ประเทศไทย) ระหว่างวันที่ 12 - 15 เมษายน 2567 ณ สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร โดยมีกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณี
• สงกรานต์สายสนุก (เปียกมาก) ได้แก่
งานสงกรานต์ถนนข้าวสาร เขตพระนคร Khao San World Water Festival UNESCO 2024 จัดโดยสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ระหว่างวันที่ 12 - 15 เมษายน 2567 เน้นกิจกรรมการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำอย่างปลอดภัยสูงสุด
งานสงกรานต์ถนนสีลม จัดโดยผู้ประกอบธุรกิจย่านสีลม ร่วมกับสำนักงานเขตบางรัก และกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 13 - 14 เมษายน 2567 ตั้งเเต่เวลา 15.00 - 20.00 น. กิจกรรมประกอบด้วย การจัดขบวนสรงน้ำพระพุทธรูปและรูปขบวนด้านศิลปวัฒนธรรม โดยใช้รถบรรทุก 6 - 10 ล้อ จำนวน 4 คัน ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 15.00 - 16.00 น. การจัดกิจกรรมบนเวทีบนถนนสีลมบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) การประกวดนางงาม LGBT การแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ตั้งเเต่เวลา 15.00 - 20.00 น. การจัดกิจกรรมบนเวทีด้านศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงดนตรีร่วมสมัย การแสดงโชว์จากศิลปินที่มีชื่อเสียง ในวันที่ 14 เมษายน 2567 ตั้งเเต่เวลา 15.00 - 20.00 น. กิจกรรมรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ 120 คน และร่วมรับประทานอาหารกับผู้สูงอายุ
งาน Songkran Delight สงกรานต์สาดมิตร ชวนคนสนิทมาสาดความสนุก จัดโดยสามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน 2567 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กิจกรรมประกอบด้วย การจัดพื้นที่เล่นน้ำ ขนาดยาว 120 เมตร หน้าศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง การจัดลานกิจกรรมวัฒนธรรมและลานเล่นน้ำสำหรับครอบครัว
งานคิงเพาเวอร์ อภิมหาสงกรานต์รางน้ำ 2567 จัดโดยศูนย์การค้า คิงเพาเวอร์ รางน้ำ ระหว่างวันที่ 11 - 16 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การค้า คิง เพาเวอร์รางน้ำ เขตราชเทวี กิจกรรมประกอบด้วย ขบวนแห่สงกรานต์ 4 ภาค ร่วมสืบสานประเพณีไทย กองทัพศิลปินที่จะมาร่วมสาดสนุกกับเทศกาลดนตรีกลางสายน้ำครั้งแรกกับที่สุดแห่งเทศกาลดนตรี ณ ใจกลางเมือง “RANGNAM WATER STREET BY SUPERFLUID” เพื่อตอกย้ำจุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยวทั่วโลก
งานสงกรานต์บรรทัดทอง Samyan Water Street 2024 จัดโดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัทโคคา - โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน 2567 ณ ถนนจุฬาซอย 5 เขตปทุมวัน กิจกรรมประกอบด้วย การจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ตลอดถนนจุฬาซอย 5 Water Tower การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำและจัดเวทีดนตรีให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การจัดพื้นที่โซนตลาดและกิจกรรมร่วมสนุกในบริเวณงาน
งานสงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็น เป็นสนุก จัดโดยสยามสแควร์ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ BEX ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน 2567 ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 - 22.00 น. สงกรานต์สีขาว เที่ยวงานกันอย่างปลอดภัย ไม่โป๊ ไม่แป้ง ไม่เปลือย และไม่แอลกอฮอล์ พร้อมสไลเดอร์ยักษ์ อุโมงค์น้ำพุ ปาร์ตี้โฟม และมีโซนอาหารร้านเด็ดกว่า 30 ร้านค้า พร้อมการแสดงดนตรีของศิลปินนักร้องชื่อดัง
งานไอคอนสยามมหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ 2567 ซึ่งยกระดับสู่การเป็นมหาสงกรานต์เฟสติวัลระดับโลก ด้วยแนวคิด “THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION: รื่นเริงมหาสงกรานต์ สานต่อตำนานมรดกโลก” ณ ไอคอนสยาม เขตคลองสาน ระหว่างวันที่ 10 - 21 เมษายน 2567 กิจกรรมประกอบด้วย ขบวนแห่นางสงกรานต์มโหธรเทวี 7 วัน 7 คน โดยนักแสดงและนางเอกชื่อดัง กิจกรรมเสริมสิริมงคลสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์จำลอง การเนรมิตพื้นที่บริเวณริเวอร์ พาร์คให้เป็น Water Splash Landmark สนุกจัดเต็มไปกับมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำ เวลา 19.00 น. รวมทั้งการแสดงทางวัฒนธรรมร่วมสมัยอีกมากมาย สร้างบรรยากาศส่งเสริมความเป็นไทยด้วยความรื่นเริงต้อนรับปีใหม่ไทย พบกับการเปิดตัวครั้งแรกของบทเพลง “สงกรานต์บ้านเรา” เวอร์ชัน 3 ภาษา พร้อมชวนคนไทยสร้างปรากฏการณ์สวมเสื้อลายดอก
● รวมทุกสถานที่จัดงานไว้เพียงปลายนิ้ว ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน happining.city
งานสงกรานต์ปีนี้ กทม. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำเว็บแอปพลิเคชัน https://happining.city/songkran2024 รวบรวมสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้ง 118 จุด ทั่วกรุงเทพมหานครไว้ในคลิกเดียว ซึ่งจะแสดงรูปแบบของการจัดงานในแต่ละจุด สามารถปักหมุดหรือตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้ filter เลือกประเภทกิจกรรม (เทศกาลเมือง/เทศกาลชุมชน/เทศกาลคอนเสิร์ต) filter เลือกหมุดความชอบ หรือ filter เลือกระดับความเปียกในพื้นที่จัดงาน นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนเหตุในพื้นที่ และสามารถร่วมแชร์สถานการณ์สภาพการจราจร เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถเลือกเที่ยวสงกรานต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง และกระจายไปเล่นน้ำแบบไม่แออัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และง่ายต่อการเดินทางสัญจรในช่วงเทศกาลด้วย
● พบกับ “สงกรานต์ลานคนเมือง” ยกงานวัดมาจัดที่ลานคนเมือง
ในส่วนของเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพฯ จัดโดยกรุงเทพมหานคร ที่บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน 2567 ภายใต้ชื่อ “สืบประเพณี เสริมสิริมงคล สงกรานต์ลานคนเมือง” ซึ่งเป็น 1 ในจุดสำคัญที่ถือเป็นศูนย์กลางของงานสงกรานต์กรุงเทพฯ ที่เน้นกิจกรรมตามประเพณีไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย
รูปแบบงานเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จำลองบรรยากาศของงานวัด มีการสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด ลานก่อเจดีย์ทราย การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงโขน ลิเก ดนตรีไทย เครื่องเล่นและการละเล่นไทย เช่น ชิงช้าสวรรค์ สาวน้อยตกน้ำ มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร เป็นต้น โดยในส่วนของเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจะเริ่มระหว่างเวลา 17.00 - 22.00 น.
ภายในงานจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์และตำนานนางสงกรานต์ นิทรรศการสงกรานต์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมทั้งมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารไทย การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์และของดี 50 เขต รวมถึงอาหารอร่อยจากร้านอาหารขึ้นชื่อในกรุงเทพฯ
● ร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ทำบุญตักบาตร รับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพิธีสวดพระปริตรรามัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ไทย
สำหรับกิจกรรมเด่นภายในงานที่ลานคนเมือง ประกอบด้วย พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ โดยในวันที่ 12 เมษายน เวลา 08.00 น. จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จอดขบวนแห่เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระที่สวนสันติชัยปราการ ด้านหน้าวัดชนะสงคราม และบริเวณปากคลองตลาด จากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ มณฑปชั่วคราวบริเวณลานคนเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน และจะอัญเชิญกลับมายังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในวันที่ 14 เมษายน เวลา 16.00 น.
ทั้งนี้ วันที่ 13 เมษายน เวลา 07.00 น. จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 67 รูป ณ ปะรำพิธีสงฆ์ และเวลา 08.30 น. จะมีพิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้สูงวัย ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์ โดยพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณกาลตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นิมนต์พระสงฆ์มอญที่มีตำแหน่งเป็นพระครูปริตรรามัญ (ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงที่วัดชนะสงครามเท่านั้น) มาสวดด้วยรามัญวิธี พร้อมเสกน้ำพระพุทธมนต์ในคราวเดียวกัน และจะมีการนำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพิธีดังกล่าว จำนวน 9,999 ชุด มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณลานคนเมือง เพื่อเป็นสิริสวัสดิมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย
● ชวนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเที่ยวงานมหาสงกรานต์
ในเรื่องของการเดินทาง กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนใช้ระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ดังนี้ 1. รถโดยสารประจำทางที่ผ่านบริเวณสนามหลวง ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินกลาง จำนวน 47 สาย 2. เรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา (เรือด่วนเจ้าพระยา หรือเรือข้ามฟาก) บริเวณท่าพระอาทิตย์ ท่าพระจันทร์ ท่ามหาราช และท่าช้าง 3. รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสนามไชย เพื่อเชื่อมต่อรถ Shuttle Bus ของกรุงเทพมหานคร (BMA Feeder) หรือรถสองแถวบริการของ ททท. 4. รถสองแถวบริการ ททท. ให้บริการระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน 2567 เวลา 13.00 - 24.00 น. จำนวน 9 คัน มีจุดจอด 3 จุด (จุดละ 3 คัน) โดยมีจุดจอดรถ (รอรับ) ที่ เมเจอร์ปิ่นเกล้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และมิวเซียมสยาม และมีจุดจอดรถ (ส่ง-รอรับ) ที่ สนามหลวง 5. รถ Shuttle Bus ของกรุงเทพมหานคร (BMA Feeder) 6. เรือไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร โดยได้ขยายเส้นทางจากคลองผดุงกรุงเกษม (ตลาดเทวราช - MRTหัวลำโพง) มารับส่งที่ท่าเรือป้อมมหากาฬ (ผ่านฟ้าลีลาศ) ให้บริการวันที่ 12 - 15 เมษายน 2567 เวลา 12.00 - 24.00 น. จำนวน 7 ลำ และ 7. Bike Sharing กรุงเทพมหานคร “ปัน ปั่น” หรือจักรยานสาธารณะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีจุดจอดให้บริการกระจายโดยรอบพื้นที่จัดงาน อาทิ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แยกคอกวัว ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่ามหาราช ท่าช้าง สวนสันติชัยปราการ MRT สนามไชย ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
● จัด BMA Feeder บริการรับส่งนักท่องเที่ยวและประชาชน ฟรี
สำหรับรถ Shuttle Bus ของกรุงเทพมหานคร ที่นำมาให้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ จะเป็นรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder (20 ที่นั่ง รองรับผู้พิการ 2 ที่) จำนวน 3 คัน สำหรับให้บริการระหว่างวันที่ 12 - 15 เมษายน 2567 เวลา 13.00 - 21.00 น. จอดรับ-ส่งเฉพาะจุดจอดหลัก 9 จุด คือ 1. ลานคนเมือง (เสาชิงช้า) 2. ป้ายแยกคอกวัว (ตรงข้าม ถ.ข้าวสาร) 3. งานสงกรานต์สนามหลวง (ป้ายศาลฎีกา) 4. ป้ายคลองคูเมืองเดิม (MRT สนามไชย) 5. ป้ายมิวเซียมสยาม (MRT สนามไชย) 6. งานสงกรานต์สนามหลวง (ป้ายสนามหลวง) 7. ป้ายก่อนแยกคอกวัว (ถ.ข้าวสาร) 8. ป้ายก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถ.ข้าวสาร) และ 9. ป้ายเสาชิงช้า เพื่อลดปัญหาจราจรและหลีกเลี่ยงการนำรถจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่จัดงานหลัก โดยจะให้บริการฟรี ความถี่ทุก ๆ 20 นาที โดยสามารถติดตามตำแหน่งของรถ BMA Feeder ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ViaBus ในโหมด BMA Feeder
● กทม.ผนึกกำลังตำรวจ ดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วม ประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้คนมาร่วมงานหนาแน่น จัดตั้งศูนย์ CCTV ติดตามเฝ้าสังเกตสถานการณ์ เพื่อจำกัดผู้ร่วมงานไม่ให้เกินปริมาณที่พื้นที่รองรับได้ จัดตั้งจุดบริการประชาชน บริเวณเส้นทางเข้า-ออกเมือง 7 จุด และบริเวณสถานีขนส่ง 4 จุด รวม 11 จุด เตรียมความพร้อมบุคลากรและอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังอันตราย เตรียมความพร้อมเครื่องมือกลและรถยกขนาดใหญ่ เตรียมความพร้อมด้านเจ้าหน้าที่ ด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนในการร่วมอำนวยความสะดวกด้านจราจรและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน จัดหน่วยปฏิบัติงานพิเศษพร้อมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์รถซ่อมเคลื่อนที่เร็วและรถยกลากจูง รณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน ดูแลไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางหลัก ๆ บริเวณพื้นที่จัดงานอย่างทั่วถึง ตรวจสอบซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้มีความพร้อมในการใช้งาน จัดหน่วยซ่อม CCTV เคลื่อนที่เร็ว (หน่วย BEST) และรับแจ้งเหตุขัดข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมโยง CCTV พื้นที่ตรอกข้าวสารและบริเวณโดยรอบ รวมทั้งกล้องพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด ประสานผู้รับจ้างตรวจสอบความเรียบร้อยพร้อมทั้งการให้บริการของสถานีรถไฟฟ้า BTS และสถานีรถ BRT
พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยโดยการเพิ่มศักยภาพให้แก่กล้อง CCTV โดยในปีนี้ได้มีการนำร่องใช้เทคโนโลยี AI กับกล้อง CCTV ในพื้นที่ตรอกข้าวสารและบริเวณโดยรอบในเทศกาลสงกรานต์ 2567 ดังนี้ 1. ระบบอ่านและบันทึกป้ายทะเบียน จำนวน 64 กล้อง 2. ระบบจดจำใบหน้า จำนวน 22 กล้อง (พื้นที่จัดงาน 16 กล้อง+จุดคัดกรอง 6 กล้อง) 3. ระบบวิเคราะห์ความหนาแน่นของฝูงชนบนถนนข้าวสาร จำนวน 4 กล้อง 4. ระบบนับจำนวนคน จำนวน 6 กล้อง ใช้ร่วมกันกับระบบจดจำใบหน้าที่จุดคัดกรอง 5. ระบบค้นหาลักษณะของบุคคลหรือสิ่งของ 6. จัดหากล้องติดตามตัว จำนวน 30 กล้อง
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย สามารถ โทร. 191 เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 และพบเหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัย โทร. 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากต้องการขอภาพจากกล้อง CCTV เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย สามารถดาวน์โหลดออนไลน์ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. แจ้งความ 2. เตรียมเอกสาร ได้แก่ บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ สำเนาบัตรประชาชน วันและเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการขอ 3. ขอไฟล์ภาพออนไลน์ได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th หรือไลน์ @CCTVBANGKOK 4. เจ้าหน้าที่แจ้งผลการดำเนินการผ่านไลน์ @CCTVBANGKOK และทางอีเมล์ที่แจ้งไว้ หรือสามารถติดตามสถานะการขอไฟล์ภาพผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และ 5. รอรับวิดีโอ โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th/tracking
อนึ่ง ผู้ร่วมแถลงข่าวในวันนี้ประกอบด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเกียรติในงาน
.
.
.