In News

รัฐฯเคาะแล้ว! เงินหมื่นบาทดิจิทัลวอลเลต ดึงเงินกู้ผ่านธ.ก.ส.โอนล็อตเดียวในต.ค.นี้



กรุงเทพฯ-​รัฐบาลเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ใส่เงินระบบเศรษฐกิจกระจายไปทุกพื้นที่ให้ถึงฐานราก ท้องถิ่น-ชุมชน โดยดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ยืนยันไม่ออกพรก.หรือพ.ร.บ.กู้เงิน แต่เป็นการกู้ผ่านธ.ก.ส. เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนในเดือนตุลาคมนี้ ล็อตเดียว แต่กำหนดให้ใช้ 2 รอบ ส่วนร้านค้าเข้าร่วมเป็นร้านขนาดเล็ก สำหรับเซ่เว่นอีเลฟเว่น จะมีการเคาะอีกครั้ง

วันนี้ (10 เม.ย.67) เวลา 10.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้

ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว  รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาสสาม และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาสสี่ปีนี้

นายกฯ กล่าวย้ำว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี อันจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

นายกฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

นายกฯ กล่าวว่าในส่วนของความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่าน Digital Wallet  วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6 จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ  โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการฯ จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ และแหล่งเงินที่มา นายกฯ ได้มอบให้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดโครงการฯ และประเด็นเงื่อนไขข้อกำหนดและการพัฒนาระบบรายละเอียดของโครงการได้มอบให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจง

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินของโครงการฯ ตามที่กระทรวงการการคลัง สำนักงบประมาณได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก วงเงิน 500,000 ล้านบาท ว่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไร โดยขณะนี้มีคำตอบให้คณะกรรมการนโยบายฯ แล้วว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว 2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568  และ 3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1- 3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินตรา โดย ณ วันที่เริ่มโครงการช่วงปลายปีจะมีเงิน 500,000 ล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือการใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ขอยืนยันเรื่องแหล่งเงินและความมั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

ด้านนายจุลพันธ์ฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น โดยเรื่องแรกคือเรื่องของสาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบ ดังนี้  (1) เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา (2) เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังจากช่วงโควิด19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีแนวทางการดำเนินโครงการฯ รายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 1. กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีจะมีเกณฑ์ ได้แก่ ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 2. เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ  โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น กลุ่มสองคือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในเชิงพื้นที่และขนาดของร้านค้าระหว่างร้านค้ากับร้านค้าด้วยกัน ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด) และตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า 3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม  4. สำหรับการใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองโดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
 
5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป    
 
6. สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567  และ

7. เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นอนุกรรมการ รวมทั้งที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท  ผ่าน Digital Wallet โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ในประเด็นต่าง ๆ ด้วย โดยวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีมติเห็นชอบทุกประเด็นตามที่ได้ชี้แจงไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้

นายกฯให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังประชุมฯยืนยันทำถูกต้องตามกฎหมายและเกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด

นอกจากนี้ในส่วนประเด็นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลภายหลังแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

สื่อมวลชนได้สอบถามว่ามาตรการที่ออกในวันนี้ ผิดจากความตั้งใจแรกในตอนหาเสียงหรือไม่  นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่แน่นนอนเราเป็นรัฐบาลที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเดิมที่คาดว่าจะออกมาตรการมาต้นปีนี้ แต่ก็ล่าช้ามาถึงปลายปี อย่างที่เรียนเราต้องฟังเสียงจากทุกคน ที่มาให้ข้อแนะนำ และข้อเสนอแนะ ซึ่งในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่ โปร่งใส่ ซื่อสัตย์และสุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกไปอยู่กับพี่น้องประชาชน

ส่วนเรื่องการกู้เงินที่ไม่ได้กู้โดยออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. แล้ว แต่เปลี่ยนมาใช้เงินของธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแทน รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณในการใช้หนี้เท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร และกระจายในระยะเวลากี่ปีนั้น นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) งบประมาณปี 2568 ซึ่งการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งวันนี้ที่ได้ตรวจสอบคือ 1. อำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. สามารถทำได้หรือไม่ คำตอบ   “ทำได้” 2. สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอหรือไม่นั้น “มีเพียงพอ” ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราได้ยืนยันต่อที่ประชุมภายในวันนี้ และเมื่อถึงเวลาจริง ๆ ในวันที่ต้องใช้ก็ต้องให้งบประมาณ 2568 ออกมาก่อน ซึ่งรายละเอียดจะตามออกมา 

สำหรับประเด็นโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่จะเข้ากระเป๋าประชาชนจำนวน 10,000 บาท จะเป็นการเข้าล็อตเดียวหรือทยอยจ่ายนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เข้าล็อตเดียว  ส่วนกรณีร้านค้าที่จะสามารถเบิกเงินได้ที่แบ่งครั้งที่สองก่อน เอาอะไรมาวัดตรงนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระบวนการที่ได้มีการกำหนดในชั้นอนุกรรมการมีข้อห่วงใยในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น เรื่องของการซื้อรถ แลกรถ และประเด็นในเรื่องของการสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจ จะมีเพียงพอหรือไม่นั้น ซึ่งหลังจากที่ได้พิจารณาอย่างละเอียดทางฝ่ายเลขาฯ ได้นำเสนอมาที่ชั้นอนุกรรมการแล้วส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ในวันนี้ โดยเสนอให้กลไกการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ต้องใช้ 2 รอบเป็นอย่างต่ำเพื่อให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจอย่างที่เหมาะสม เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการเงิน Digital Wallet  โดยรอบแรกประชาชนใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก จะเป็นร้านหน้าบ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น เมื่อใช้แล้วร้านค้าดังกล่าวก็นำเงินไปซื้อสินค้าทุน กับร้านค้าอื่น ๆ ต่อไปอีกหนึ่งถอดจึงจะขึ้นเงินได้ 

ส่วนประเด็นการมองในแง่ขององค์ประกอบของการประชุมบอร์ดชุดใหญ่ที่การประชุมทั้ง 2 ครั้ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยแม้จะมีผู้แทน ธปท. มา จะทำให้เป็นปัจจัยหรือการตั้งคำถามอะไรตามมาหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร เนื่องจากได้มีการส่งตัวแทนมาแล้วซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ ส่วนที่ถามว่าคนไหนอยู่หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ตรงนี้ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ได้มาในวันนี้ เพียงแต่ไม่ได้มีการถามถึง ตรงนี้จึงไม่มีประเด็นอะไร ขณะที่นายกฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า รับทราบท่านบอกท่านติดภาระกิจ และได้มีการมอบตัวแทนมา ถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามชอบธรรม และถูกต้อง 

กรณีเงื่อนไขร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ รัฐบาลได้มีการเปลี่ยนหรือไม่ ในการกำหนดเรื่องของเงินเดือน และเงินฝากด้วย รวมถึงคนที่ได้เคยเข้าโครงการ Easy E-Receipt ไปแล้วยังสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้หรือไม่นั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ เนื่องจากโครงการ Easy E-Receipt เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปีระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ปิดไปแล้ว ไม่มีการเกี่ยวเนื่องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ  ส่วนที่เปลี่ยนจาก 70,000 บาทต่อเดือนเป็น 840,000 บาทต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการของทางกรมสรรพากรเท่านั้น ตัวเลขเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

กรณีประเด็นโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่จะช่วย GDP ประมาณ 1.2 % ถึง 1.6 % จะมีผลในปี 2567 เท่าไร และปี 2568 เท่าไร เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 6 หกเดือน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า โครงการมี Impact เงินออกไตรมาส 4 แล้ว ซึ่งผลกระทบคงตกอยู่ในปี 2568 เป็นหลัก ส่วนโครงการนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในปี 2567 ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และปี 2568 โครงการDigital Wallet จะช่วยทำให้ GPD นั้นเติบโตใกล้เป้าของรัฐบาล 5% หรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการกล่าวว่า “แน่นอน” และยืนยันอีกอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์หรือโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นเพียงแค่ 2 ในหลาย ๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะออกมา ซึ่งในระหว่างปีต่อไปก็จะมีโครงการอื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างกำลังซื้อ สร้างการจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป 

ส่วนที่ต้องการให้ขยายความในประเด็นร้านค้าขนาดเล็ก กรณี 7-ELEVEN กับ Makro ถือว่าเป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า  รายละเอียดนี้สุดท้ายต้องมีการ finalize อีกรอบ แต่ในเบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาคือร้านค้าขนาดเล็ก ส่วน Makro และห้างสรรพสินค้า แน่นอนว่าไม่รวมอยู่ด้วย ด้าน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า เหตุผลที่เลือกร้านค้าขนาดเล็กเพื่อให้กระจายอยู่ในพื้นที่ กระจายอยู่ในชุมชน และต้องการให้เกิดการหมุนในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด ในส่วนของร้านที่ไม่สามารถใช้ได้ในรอบแรก จะไม่รวมห้างสรรพสินค้า ไม่รวมห้างค้าปลีก และค้าส่งขนาดใหญ่ ทั้งนี้จะรวมตั้งแต่ร้านค้าปลีกทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อทั้งแบบ Stand Alone และแบบที่ตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมันลงมา เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนที่จะยกเว้นก็คือห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ห้างค้าปีกขนาดใหญ่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

กรณีประเด็นมาตรา 28  พระราชบัญญัติวินัยการคลังของรัฐ  กรอบเดิม 32 และมีการใช้ไป 31.79 คณะกรรมการวินัยการคลังได้มีการขยายกรอบขึ้นไปแล้วหรือไม่ในรอบล่าสุด ต้องมีการขยายกรอบเพิ่มอีกหรือไม่  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการคลังของรัฐ   ไม่มีการขยายกรอบและจะไม่มีการขยายกรอบ ในส่วนของตัวงบประมาณปี พ.ศ. 2567 ถ้าเกิดมีผลบังคับใช้แล้ว กรอบตรงนี้ก็จะกว้างขึ้น และงบประมาณ ปี พ.ศ. 2568 ที่จะบังคับใช้ในเดือนตุลาคม กรอบตรงนี้ก็จะกว้างขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นหลังจากการประเมินของการใช้โครงการ หลังจากมีการใช้เงินของ ธ.ก.ส. ตรงส่วนนี้แล้ว ตัวมาตรา 28 กรอบอาจจะลงต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ได้ เพราะฉะนั้นหมดความกังวลเรื่องวินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 28 

ต่อคำถามที่ว่าตรงนี้ให้ ธ.ก.ส. สำรองเงินจ่ายไปก่อน โดยจ่ายแจกแก่เกษตรกรไปได้เลย ทั้งนี้ได้มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ในการใช้หนี้คืน ธ.ก.ส. ได้เมื่อไร ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นกระบวนการทางงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีต้องดูเหตุของความจำเป็น และรายได้ที่ได้เข้ามา ซึ่งเรามีการตั้งใช้คืนสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งต้องจะดูความเหมาะสมในแต่ละปีงบประมาณ 

ส่วนกรณีคำถามประเด็นขอให้ลงรายละเอียดส่วนที่ 3 การใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2567 จำนวน 150,000 ล้านบาท รายละเอียดและเนื้อหาภายในส่วนที่ 3  เป็นอย่างไรนั้น ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า กล่าวต่อว่า ตรงนี้ยอดคือ 175,000 ล้านบาท แต่งบประมาณปี พ.ศ. 2567 เพิ่งออกใช้ เฉพาะฉะนั้นรัฐบาลมีเวลาที่จะบริหารจัดการเงินในส่วนนี้ ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ แต่ต้องให้เวลารัฐบาลด้วย

ต่อกรณีคำถามประเด็นการแถลงข่าวครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 100,000 ล้านบาท ยังมีความคงเดิมหรือไม่ แล้วจะนำเงินงบประมาณตรงส่วนไหนเข้ามาใส่  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า งบประมาณ ปี พ.ศ. 2567 มีการเติมเงินเข้าไปในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว ซึ่งในปีถัด ๆ ไปในช่วงระยเวลา 3 – 4 ปี ที่จะเป็นรัฐบาลก็จะยังมีการเติมเงินเข้าไปในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถเข้าไปในกองทุน เพราะกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เป็นหัวใจสำคัญในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  เพื่อที่จะรองรับเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า EV  หรือ Semiconductor ต่าง ๆ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วใน ปี พ.ศ. 2567 ส่วนหนึ่ง และจะมีการทยอยเพิ่มเติมเข้าไปในส่วนของกองทุนต่าง ๆ อีกในปีถัด ๆ ไป 

ทั้งนี้ ในตอนท้าย นายกฯ กล่าวยืนยันว่าไม่ได้บั่นทอนเรื่องการลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เงินตรงส่วนนี้ยังคงอยู่ในระบบ