In Bangkok

กทม.เดินกน้าปรับปรุงจุดเสี่ยงแล้ว47จุด เพิ่มกล้องCCTVป้องกันลดอุบัติเหตุ



กรุงเทพฯ-นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สจส.ได้สำรวจและตรวจสอบจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) โดยใช้ข้อมูลดังกล่าวพิจารณาจัดลำดับจุดที่มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและพิจารณาตรวจสอบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและได้เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านช่องทาง https://opendata.data.go.th/ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เสนอแนะให้ กทม. ตรวจสอบปรับปรุงบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงได้ด้วย โดยในปี 2567 สจส.ได้เร่งปรับปรุง เพื่อลดความเสี่ยงเป็นลำดับแรกก่อนจำนวน 125 จุด ปัจจุบันได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จแล้ว 47 จุด เช่น การปรับปรุงกายภาพพื้นที่ การเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง การติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย ปรับปรุง หรือจัดทำเครื่องหมายจราจร การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร การประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันวินัยจราจร เป็นต้น ส่วนกรณีหมุดสะท้อนแสงที่ชำรุดและหลุด สจส.จะเร่งรื้อถอนและติดตั้งเทปจราจรสะท้อนแสงทดแทนต่อไป

นอกจากนั้น ยังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คัดเลือกจุดมาจากเรื่องร้องเรียนของประชาชนในระบบ Traffy Fondue หรือจากสำนักงานเขต สำนักเทศกิจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เป็นต้น และในปี 2568 สจส.ได้ขอจัดสรรงบประมาณติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเฝ้าระวังอาชญากรรมทั่วบริเวณชุมชน โดยนำเทคโนโลยีระบบ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกล้อง CCTV อาทิ การทดลองติดตั้งระบบตรวจจับการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า การส่งภาพถ่ายพร้อมทะเบียนรถของผู้กระทำผิดให้สำนักเทศกิจ เพื่อค้นหาผู้ครอบครองรถ เพื่อดำเนินการจับปรับตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พร้อมทั้งตรวจสอบบำรุงรักษากล้อง CCTV ระบบการเชื่อมต่อสัญญาณให้พร้อมใช้งาน 24 ชั่วโมง รวมถึงปรับมุมกล้อง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับการประมวลผลของระบบ AI เพื่อเฝ้าระวังและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน