EDU Research & ESG

สร้างปรากฏการณ์เวิร์คชอปนักสร้างเรื่อง ด้วยกระแสตอบรับผู้สนใจร่วมงานล้น



กรุงเทพฯ-กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ บริษัท เคพี คอมมิค สตูดิโอ จำกัด และ บริษัท คาเคา เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมเวิร์คชอป นักสร้าง “เรื่อง” เพื่อต่อยอดพัฒนาไอเดียสร้างสรรค์งานเขียนบทอย่างมีคุณภาพ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 100 คน ณ อาคารอเนกประสงค์ C อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 - 17 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

กิจกรรมเวิร์คชอป นักสร้าง “เรื่อง” ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ร่วมงานทั้งจากผู้ที่มาร่วมงานและผู้ที่รับชมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน โดยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการเขียนบท ได้มาให้คำแนะนำ บอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์การเขียนบท ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อ การปั้นไอเดียในการเขียนบท เทคนิคการเขียนบท การวางโครงเรื่อง เทคนิคการเล่าเรื่องราว การสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ตัวละคร รวมถึงแนวโน้มของตลาดเว็บตูนไทย และเสริมด้วยความรู้ทางด้านลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าอบรมทั้ง 3 วันจะได้รับประกาศนียบัตรสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปในครั้งนี้ด้วย

คุณสืบสิริ ทวีผล ทนายความหุ้นส่วน บริษัท Tilleke & Gibbins International จำกัด ได้กล่าวถึงความสำคัญในเรื่องลิขสิทธิ์กับผลงานที่สร้างสรรค์ว่า “การเขียนบทเป็นการใช้ความคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานประเภทหนึ่ง ซึ่งผลงานดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน การนำผลงานดังกล่าว ไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ นอกจากนี้ ในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ผลงาน เจ้าของลิขสิทธิ์ควรทำเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยระบุขอบเขตและเงื่อนไข รวมถึงระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สิทธิให้ชัดเจน และในกรณีที่พบการละเมิดลิขสิทธิ์ของตน เจ้าของลิขสิทธิ์อาจดำเนินการโดยเริ่มจากการแจ้งเตือนหรือดำเนินการฟ้องร้องให้หยุดการกระทำนั้นได้”

คุณอรุณทิวา วชิรพรพงศา Storyboard Supervisor จาก KP Comics Studios ได้กล่าวถึงเทคนิคในการเล่าเรื่องราวให้น่าติดตามว่า “โครงสร้างของการทำให้เนื้อเรื่องเว็บตูนน่าสนใจนั้น ประกอบด้วย ไอเดียหรือแนวความคิดที่แปลกใหม่ พล็อตซึ่งเป็นภาพรวมของเหตุการณ์ สตอรี่หรือเรื่องราวของตัวละคร และธีมที่จะช่วยขับเคลื่อนเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และอีกส่วนที่มีความสำคัญก็คือ คาแรคเตอร์ของตัวละครที่จะทำให้ผู้อ่านจดจำการกระทำ และแรงผลักดันของการกระทำนั้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง”

คุณใบสน จินต์นัชชา มณีศรีวงษ์ นักเขียนนิยายและนักเขียนบทมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์ทางด้านการเขียนบทและเขียนนิยายกว่า 10 ปี ได้เล่าถึงการเขียนบทว่า “วัตถุประสงค์ในการเขียนนิยายและการเขียนบทนั้นมีความแตกต่างกันคือ นักเขียนนิยายจะเขียนนิยายเพื่อให้นักอ่านเกิดความบันเทิงและส่งข้อความที่ต้องการไปสู่คนอ่าน แต่นักเขียนบท นอกจากจะเขียนโดยคำนึงถึงความบันเทิงและข้อความที่ต้องการจะสื่อแล้ว ยังต้องเขียนบทให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ทีมงานสามารถนำบทนั้นไปทำงานต่อได้”

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงเทคนิคการเขียนบทอย่างมืออาชีพว่า “ไอเดียการเขียนบทอาจตั้งต้นมาจาก   ธีมของเรื่องที่ต้องการสื่อสารออกไป คอนเซ็ปต์หรือขอบเขตที่ชัดเจนของเรื่อง พล็อตหรือที่มาที่ไปของเรื่อง หรือสถานการณ์เรื่องราวต่างๆ รอบตัว ก็สามารถถูกนำมาพัฒนาเป็นไอเดียและที่มาของเรื่องราวที่จะถูกนำมาเขียนบทได้”

และปิดท้ายด้วยการเสวนาหัวข้อ กว่าจะเป็น Webtoon 12 ล้านวิว กับเรื่อง “ต้องทำไง ให้พระอภัยรัก” จาก KAKAO WEBTOON (ประเทศไทย) ซึ่งเล่าถึงกระแสตอบรับของเรื่องนี้ว่าเป็นเว็บตูนที่ต้องพัฒนาเรื่องราวโดยที่ไม่มีนิยายต้นฉบับ และถูกนำมาดัดแปลงโดยขั้นตอนการทำงานแบบสตูดิโอ อาทิ การทำบทสำหรับเว็บตูน การกำหนดบทสนทนาของตัวละครเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน การทำสตอรี่บอร์ด การลงสีภาพ เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพก่อนจะเผยแพร่ รวมถึงการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ทั้งการทำทีเซอร์และเพลงประกอบ ซึ่งด้วยปัจจัยที่ลงตัวทั้งหมดจึงทำให้เว็บตูนเรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่าน

สำหรับกิจกรรมเวิร์คชอป นักสร้าง “เรื่อง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมของการประกวดเขียนบทสำหรับการ์ตูนออนไลน์ (Webtoon) “บทจะเขียนต้องได้เขียน” T-TOON Script Contest 2024 ในโครงการ T-Toon, Empower Soft Power ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท และทริปศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ - 19 เมษายน 2567