In News

คลังอัปเดตช่วยทางการเงินหนี้นอกระบบ มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาฯ



กรุงเทพฯ-รายงานความคืบหน้าประจำสัปดาห์ผลดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจาก ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566 – 8 เม.ย.2567 ได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 8,806 ราย เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 426.55 ลบ.และกระทรวงการคลังกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอสังหาริมทรัพย์และช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้แถลงนโยบายเพื่อยกระดับให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชน สินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบและสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน รวมถึงมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566)
 
กระทรวงการคลังขอรายงานความคืบหน้าประจำสัปดาห์ของผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามมาตรการสินเชื่อดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 8 เมษายน 2567 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 8,806 ราย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 426.55 ล้านบาท โดยมีจำนวนประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (4 เมษายน 2567) 1,913 ราย รวมเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 70.81 ล้านบาท

นายพรชัยฯ กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า “นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจข้างต้นแล้ว กระทรวงการคลังได้ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย โดยประชาชนที่สนใจขอกู้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 75 จังหวัดได้ที่ www.1359.go.th นอกจากนี้ นิติบุคคลใด (บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) ที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถดูข้อมูลรายการยื่นคำขออนุญาตได้ที่ www.1359.go.th เช่นกัน หรือโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1359”

กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอสังหาริมทรัพย์และช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอสังหาริมทรัพย์และช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว ดังนั้น กระทรวงการคลังได้ขอให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านเศรษฐกิจมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การตรึงหรือลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าวให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ รวมถึงลดโอกาสที่ลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อ SM จะกลายเป็นลูกหนี้ NPL ในอนาคต
2. จัดทำระบบแจ้งเตือนลูกหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate) เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเจรจาขอปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่กับธนาคารได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ให้ลดลงได้

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และสามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกหนี้ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งของภาคอสังหาริมทรัพย์ และดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ