Health & Beauty

ผื่นแดงเป็นขุยแสบคันระวัง'โรคเซ็บเดิร์ม' รพ.วิมุตแนะรับพบแพทย์ก่อนลุกลาม



ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีผิวพรรณที่ดูดีสะอาดสะอ้าน ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างบุคลิกแล้วยังช่วยให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจอีกด้วย แต่บางครั้ง แม้ว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างดีแล้ว ผิวกลับมีผื่นแดงผิดปกติขึ้นหลายจุด แถมยังมีอาการแสบคันร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอาการของ "โรคเซ็บเดิร์ม" ที่มักเกิดขึ้นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก โดยนอกจากจะสร้างความรำคาญและทำให้สูญเสียความมั่นใจแล้ว หากไม่รักษาให้ดี ผื่นอาจลุกลามจนเกิดอาการแทรกซ้อน วันนี้ พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม รพ.วิมุต จะมาอธิบายลักษณะของโรคเซ็บเดิร์ม พร้อมวิธีการป้องกันและรักษา เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคนี้รับมือกับอาการให้ดีและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ

"โรคเซ็บเดิร์ม" ผื่นแดงที่เกิดบริเวณต่อมไขมัน
“โรคเซ็บเดิร์ม” (Seborrheic Dermatitis) คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ มักเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หนังศีรษะ หลังหู หน้าอก หรือหลังส่วนบน ส่วนน้อยอาจมีผื่นตามข้อพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ใต้ราวนม หรือขาหนีบ โดยคนไข้มักมีผื่นแดงที่มีอาการคันหรือแสบร่วมด้วย มีสะเก็ดสีขาวหรือสีเหลืองบริเวณผิวหนัง นอกจากนี้เมื่อมีผื่นขึ้นตามหนังศีรษะ ก็จะมีขุยหรือรังแคเกิดขึ้น โดยการอักเสบจากผื่นก็อาจทำให้ผมร่วงได้ง่ายกว่าเดิม พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ อธิบายเพิ่มเติมว่า "กลุ่มที่พบโรคนี้บ่อยมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็กแรกเกิดถึงอายุประมาณ 3 เดือน โดยอาการมักจะหายไปเองก่อนอายุหนึ่งปี ส่วนกลุ่มสองคือกลุ่มผู้ใหญ่ แบ่งเป็นกลุ่มที่เข้าช่วงวัยรุ่น และกลุ่มอายุประมาณ 40 – 50 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการค่อนข้างเรื้อรัง เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย"

มัดรวมสาเหตุ "โรคเซ็บเดิร์ม"
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเซ็บเดิร์ม แต่หลัก ๆ เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับต่อมไขมัน ตัวยีสต์ที่อยู่บนผิวหนัง การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน พันธุกรรม และปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น สภาพอากาศ อีกกลุ่มคือผู้ป่วยเป็นโรคที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ง่ายขึ้น เช่น กลุ่มคนไข้โรคระบบประสาท กลุ่มที่มีปัญหาในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น คนไข้ HIV หรือคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

"โรคเซ็บเดิร์ม" รักษาไม่หายขาดแต่ดูแลให้ดีได้
ผื่นของโรคเซ็บเดิร์มอาจทำให้สับสนกับอาการของโรคอื่น ๆ แต่เราสามารถแยกแยะด้วยลักษณะและตําแหน่งที่เกิดผื่นเป็นหลัก ซึ่งผื่นของโรคนี้จะเป็นผื่นแดงที่มีขอบไม่ชัด เป็นขุย และมีตําแหน่งที่จําเพาะ เช่น หัวคิ้ว ร่องจมูก หนังศีรษะ หรือบริเวณหู ซึ่งถ้ามีผื่นประมาณนี้ก็เข้าข่ายโรคเซ็บเดิร์มได้ เบื้องต้นสามารถซื้อยามาใช้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือผื่นลามมากขึ้น แนะนําให้มาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง เพราะบางคนหากมีผื่นเยอะหรือเป็นบริเวณกว้าง อาจต้องกินยาต้านเชื้อราและยาลดอาการอักเสบร่วมด้วย พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ เสริมเรื่องการรักษาว่า "โรคเซ็บเดิร์มเป็นโรคที่ค่อนข้างเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด เป้าหมายหลักในการรักษาจึงเป็นการคุมให้โรคสงบนานที่สุด ถ้าเราปล่อยไว้นาน ๆ ไม่รักษาก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อซ้ำซ้อน ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือผื่นลามมากจนทำให้สูญเสียความมั่นใจและเกิดความเครียด ก็ยิ่งกระตุ้นการเกิดผื่นเป็นวงจรซ้ำ ๆ"

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็น "โรคเซ็บเดิร์ม"
การคุมโรคเซ็บเดิร์มสามารถทำได้หลายวิธี ที่สำคัญคือการรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่มีผื่น หมั่นล้างหน้าให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดและครีมที่ไม่มีสารในกลุ่มแอลกอฮอล์ สาร AHA / BHA กรดผลไม้ต่าง ๆ เพราะก่อให้เกิดการระคายเคือง พยายามผ่อนคลายจิตใจไม่ให้เครียด นอนหลับให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการ เช่น อากาศร้อนจัด หนาวจัด และอากาศแห้งๆ”

"แม้ว่าโรคนี้จะเป็นภาวะเรื้อรังรักษาไม่หายขาด แต่เราควบคุมอาการของโรคให้สงบได้ ด้วยการดูแลร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารให้ครบห้าหมู่ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรค หากเกิดผื่นแดงแสบคันตามใบหน้าหรือร่างกาย รักษาเองแล้วไม่ดีขึ้น หรือเป็น ๆ หาย ๆ ก็ควรพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้อาการของโรคสงบลง เราจะได้มีสุขภาพผิวที่ดี พร้อมใช้ชีวิตด้วยความมั่นใจในทุกวัน" พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 9 ศูนย์ผิวหนังและความงาม หรือโทรนัดหมาย 02-079-0074 เวลา 08.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX